"ในทางทฤษฏี แม้เห็นสัญญาณบวกแต่การเกิด Divergence และการเกิด Triple top ในกราฟแท่งเทียน จะมีความเสี่ยงของการผันผวนหนัก โดยอาจลงมายัง 1,550 จุดหรือต่ำกว่าได้ แนะนำลดพอร์ตในช่วงปรับตัวขึ้นและตั้งรับที่ต่ำกว่า"นายรณกฤต กล่าว
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงเดือนก.พ.ควรเลือกลงทุนรายตัวอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะผลกระทบจากผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4/57 ที่ไม่เป็นตามคาด โดยเฉพาะในส่วนของหุ้นกลุ่มพลังงาน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวอย่างรุนแรง แม้จะทราบแนวโน้มล่วงหน้า แต่แนะนำว่าควรรอผ่านช่วงผลประกอบการไปก่อน การเข้าลงทุนจึงมีความปลอดภัยกว่า อีกทั้งหุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวลดลงมาตลอด 1 ปี การเข้าซื้อจึงยังคงมี upside เพียงพอ
สำหรับกลุ่ม ICT แนวโน้มผลการดำเนินงานโดยรวมมีการเติบโตน่าพอใจ แม้ในไตรมาส 4/57 จะไม่ก้าวกระโดด แต่จัดเป็นกลุ่มที่ยังคงน่าลงทุนในระยะยาว เนื่องจากได้รับผลดีโดยตรงจากนโยบาย Digital Economy และ การเปิดประมูลคลื่น 4G ในช่วงครึ่งหลังปี 58 เป็นกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูง
ขณะที่กลุ่มบันเทิง อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการให้บริการดิจิตอลทีวี ทำให้รายได้ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ส่งผลให้ผลประกอบการ Q4 น่าจะยังคงอ่อนแออยู่ หากแต่หุ้นในกลุ่มนี้มีแรงเก็งกำไรประเด็น Rating ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะหุ้น WORK, RS, MONO และ GRAMMY
กลุ่มรับเหมาฯ ไตรมาส 4/57 ผลประกอบการออกมาไม่น่าที่จะมีเซอร์ไพรส์อะไรเนื่องจากรายได้จะยังรับรู้งานในมือเดิมเป็นหลัก ยังไม่มีงานขนาดใหญ่เข้ามาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามมีประเด็นบวกเรื่องงานก่อสร้างของภาครัฐที่จะทยอยออกมาตลอดทั้งปี ทำให้สามารถเก็งกำไรหุ้นรับเหมาฯได้ต่อ โดยเน้นไปที่หุ้นรับเหมารายใหญ่อย่าง ITD ,CK , STEC เป็นหลัก
กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ คาดว่าผลประกอบการในช่วง 4/57 จะยังเห็นการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจาก 3Q57 ตามทิศทางเดียวกับปริมาณผลผลิตรถยนต์โดยรวมที่เพิ่มขึ้น 3% QoQ แต่หากเทียบกับ 4Q56 ยังเห็นการลดลงอย่างมาก ส่วนทิศทางในปี 58 คาดเห็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จึงแนะนำให้ทยอยสะสมเพื่อรอการฟื้นตัวได้และเลือก STANLY กับ SAT เป็น Top Picks ประจำกลุ่ม
กลุ่มอสังหาฯ ไตรมาส 4/57 จัดเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของผลประกอบการในกลุ่มนี้ เนื่องจากมีการโอนอสังหาฯ ในปริมาณที่มากกว่าทุกไตรมาสตามปกติของธุรกิจ ขณะที่หุ้นกลุ่มนี้มีค่า PE ที่ไม่สูงมาก และราคาหุ้นยังมีการปรับขึ้นไม่มากจนเกินไป จึงเป็นกลุ่มที่น่าลงทุน เน้นไปยังบริษัทหลักเช่น SPALI , AP , PS , QH
"ปัจจัยการลงทุนในเดือนก.พ.ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อตลาดในเชิงลบ หากไม่นับความคาดหวังว่า QE ของยูโรจะดึงเม็ดเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นแล้ว ยังไม่เห็นปัจจัยบวกใดเด่นชัด ที่จะทำให้ตลาดหุ้นในระยะนี้น่าลงทุนอย่างสมเหตุผล ขณะที่แนวโน้มทางเทคนิคแสดงความเสี่ยงของแนวโน้มปรับตัวลงเช่นกัน เนื่องจากอยู่ในภาวะ Overbought จึงควรลงทุนอย่างระมัดระวัง และมีหุ้นในระดับที่ไม่มากเกินไป การเลือกหุ้นในเดือนนี้จะเน้นไปยังหุ้นผลประกอบการเด่นเป็นหลัก"นายรณกฤต กล่าว
ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศ แม้ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น แต่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง โดยเงินเฟ้อประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐ เยอรมัน ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ชะลอตัว ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ตระหนักถึงเงินเฟ้อคาดการณ์ที่อาจลดลงในระยะกลางและนำไปสู่โมเมนตัมลบต่อเศรษฐกิจโลก แม้ระยะสั้นสามารถกระตุ้นการบริโภคเมื่อราคาพลังงานลดลง ขณะที่เศรษฐกิจรัสเซียยังแย่จากราคาพลังงานที่ลดลง และค่าเงินรูเบิ้ลเทียบดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่ารุนแรงในรอบหลายปี
ส่วนสถานการณ์กรีซยังคงส่อเค้าวุ่น โดยพรรคไซรีซ่า นำโดยนายอเล็กซิส ซีปราส ที่มีนโยบายต้องการผ่อนคลายการชำระหนี้ของกรีซที่เข้มงวดและจะทำการเจรจากับเจ้าหนี้ใหม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลตามที่โพลสำรวจคาด โดย กรีซมีดีลที่ต้องถึงกำหนดชำระหนี้เงินต้น มูลค่า 3.5 พันล้านยูโรในเดือนกรกฎาคม และ 3 พันล้านยูโรในเดือนสิงหาคม ก่อนที่จะกลายเป็น Default risk อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นักลงทุนกังวลคือ สถานการณ์อาจบานปลายให้ประเทศอื่นๆในยูโรโซนเช่นสเปน ปฎิบัติตามประเทศกรีซด้วยการขอการเจรจาใหม่กับเจ้าหนี้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศที่กระทบบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทย ประเด็นDigital economy ที่กำลังพูดถึงกันในวงกว้างที่อาจหนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย และโครงการลงทุนจากภาครัฐที่มีนโยบายเน้นการลงทุนเชิงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง และการลงทุนทวาย ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์เศรษฐกิจไทยเติบโต 4% ในปีนี้ ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 4.5% ปัจจัยหนุนมาจากการลงทุนภาครัฐเป็นหลัก
ขณะที่ฟันด์โฟลว์ตลอดเดือนมกราคมที่ผ่านมามีความผันผวน โดยที่ครึ่งเดือนแรกขายสุทธิทั้งสิ้น 15,260 ล้านบาท เนื่องจากแรงขายหุ้นใหญ่ในกลุ่มพลังงาน แบงก์ จาก LTF ที่ครบกำหนด 5 ปี พอเข้าสู่ครึ่งเดือนหลังมีแรงเก็งกำไรกลับเนื่องจากเก็ง QE ของ ECB ทำให้ยอดทั้งเดือนเป็นยอดขายสุทธิลดลงมาที่ 3,800 ล้านบาท
"การประกาศมาตรการ QE ของ ECB ที่ประกาศเมื่อเดือนที่ผ่านมา จะใช้อัดฉีดเริ่มในเดือนหน้า มาริโอ ดรากิ ประธาน ECB ประกาศแผนเข้าซื้อพันธบัตร 6 หมื่นล้านยูโร ต่อเดือนตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 ถึง กันยายน 2559 เป็นขนาดทั้งสิ้น 1.1 ล้านล้านยูโร ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แผนเข้าซื้อพันธบัตรครั้งนี้ถือว่าเข้มงวดและนักเศรษฐศาสตร์กังวลว่ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจยูโรโซนได้มีประสิทธิภาพนัก ที่ต้องจับตาไปเรื่อยๆ คือตัวเลขเงินเฟ้อในแต่ละเดือนหลังจากที่อัดเงินเข้าระบบ"นายรณกฤตกล่าว