IRPC มองปีนี้มีแต่"อัพไซด์"โครงการใหญ่แล้วเสร็จหนุนกำลังการกลั่น-มาร์จิ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 12, 2015 13:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ไออาร์พีซี(IRPC)มองปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติ หลังแผนลงทุนครั้งใหญ่ในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด(เดลต้า)และโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์(UHV)แล้วเสร็จ ช่วยหนุนกำไรอีกปีละ 4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นเป็นราว 2 แสนบาร์เรล/วัน ประกอบกับมาร์จิ้นของธุรกิจในตลาดสูงขึ้นด้วย รวมถึงคาดหวังว่าปีนี้กำไรสต็อกน้ำมันจากขาดทุนหนักในปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในระดับต่ำช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิงด้วย

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ IRPC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"ว่ากำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม(GIM)ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกในปีนี้คาดว่าจะสูงกว่า 7.63 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลในปีที่แล้ว เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงเร็วกว่าราคาผลิตภัณฑ์ทั้งน้ำมันสำเร็จรูปและปิโตรเคมี ซึ่งปัจจุบัน GIM อยู่ที่กว่า 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ประกอบกับ ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมดีขึ้นส่งผลดีต่อราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วย

สำหรับการลงทุนตามโครงการเดลต้าที่แล้วเสร็จไปเมื่อกลางปี 57 คาดว่าจะรับผลประโยชน์ได้เต็มที่ในปีนี้ที่ 4 พันล้านบาท หรือช่วยเพิ่ม GIM ราว 2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่โครงการ UHV จะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/58 และจะได้รับประโยชน์ เต็มที่ไตรมาส 4/58 หรือเพิ่ม GIM ราว 0.50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และรับประโยชน์เต็มปีในปี 59 โดยมีเป้าหมายเพิ่ม GIM ไม่ต่ำกว่าปีละ 2 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นอกจากนี้ โครงการ UHV จะช่วยให้บริษัทสามารถใช้กำลังการกลั่นน้ำมันได้สูงขึ้นราว 10% จากระดับปกติ เป็น 2 แสนบาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้ระดับการกลั่นเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ราว 1.9 แสนบาร์เรล/วัน จาก 1.72 แสนบาร์เรล/วันในปีที่แล้ว ประกอบกับ หน่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเตา(VGOHT)ที่ถูกเพลิงไหม้เมื่อกลางปีก่อนจะซ่อมแซมเสร็จในเดือน มี.ค.และกลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติ รวมถึงในปีนี้บริษัทไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงกลั่นน้ำมันและโรงปิโตรเคมี

"ปีนี้ upside เยอะสุดตั้งแต่ทำมา ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา IRPC ไม่มีกำไรเลยจาก normal operation เพราะ IRPC สูญเสียต้นทุนเชื้อเพลิงสูงกว่า 6% แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงมาครึ่งหนึ่งก็ทำให้ค่าเชื้อเพลิงหายไปครึ่งหนึ่งด้วย...ปี 58 ถ้ารูปการณ์เป็นแบบนี้กำไรแน่นอน เพียงแต่จะมากหรือน้อยเท่านั้น ปีนี้มีแต่ upside ไม่มี downside"นายสุกฤตย์ ให้สัมภาษณ์"อินโฟเควสท์"

อนึ่ง ในปี 57 IRPC มีผลขาดทุนสุทธิ 5.23 พันล้านบาท เป็นการขาดทุนจากสต็อกน้ำมันและค่าเผื่อการลดลงของสินค้าคงเหลือ(LCM)ราว 1 หมื่นล้านบาท หลังราคาน้ำมันดิบร่วงลงในช่วงปลายปีมาอยู่ที่ราว 53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจาการผลิตทางบัญชี(Accounting GIM)ซึ่งรวมผลกระทบจากสต็อกในปีที่แล้วลดลงเหลือ 3.49 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

นายสุกฤตย์ คาดว่า ปีนี้บริษัทจะกลับมามีกำไรจากสต็อกน้ำมัน จากที่คาดว่าราคาน้ำมันจะฟื้นตัวขึ้นจากที่อยู่ในระดับต่ำช่วงปลายปีที่แล้ว ประกอบกับ ยังมีเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่อาจมีผลต่อปริมาณการผลิตน้ำมัน และเป็นปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมันในอนาคต โดยมองราคาน้ำมันปีนี้ในช่วง 50-70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่บริษัทลดการสต็อกน้ำมันเหลือ 30 วันเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของราคา เบื้องต้นเชื่อว่าจะเห็นกำไรสต็อกในช่วงไตรมาส 1/58 รวมทั้ง GIM ที่สูงขี้นจะทำให้ไตรมาสแรกปีนี้กำไรสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่ราคาน้ำมันปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำมีส่วนช่วยลดค่าเชื้อเพลิงงไปด้วยเช่นกัน โดยราคาน้ำมัน 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล มีค่าเชื้อเพลิงกว่า 6 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดังนั้น เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลงราว 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ค่าเชื้อเพลิงก็ลดลงเหลือกว่า 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยค่าเชื้อเพลิงที่ลดลงทุก 1 เหรียญ/บาร์เรล จะช่วยลดค่าใช้จ่ายราว 2 พันล้านบาท

"ราคาน้ำมันยิ่งต่ำยิ่งดีสำหรับ IRPC เราซื้อมาขายไปเราซื้อน้ำมันดิบมากลั่นแล้วขาย เรากินส่วนต่าง ราคาน้ำมันสูงน้ำมันต่ำไม่มีผลหรอก ยกเว้นเรื่อง stock loss หรือ stock gain ถ้าตราบใดที่เศรษฐกิจโลกเติบโตดี demand product ดีมากส่วนต่างก็จะสูงเราก็จะ enjoy และต้นทุนเชื้อเพลิงที่ถูกลง เป็นผลพลอยได้เทียบกับคนอื่น เราถือว่าได้สองเด้ง"นายสุกฤตย์ กล่าว

สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงนี้ยังนับว่าเป็นขาขึ้น หลังจากที่ลงไปต่ำสุดเมื่อช่วง 2 ปีที่แล้ว โดยส่วนต่าง(สเปรด)ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปีที่แล้วดีกว่าปีก่อน และยังมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ยกเว้นอะโรเมติกส์ที่สเปรดยังไม่ดีนัก เพราะมีกำลังการผลิตจากจีนเข้ามา แต่ในส่วนผลิตภัณฑ์ของอะโรเมติกส์ของบริษัทมีไม่มากนัก ประกอบกับ มีการนำผลิตภัณฑ์มาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในสายของสไตรรินิกส์ โดยปัจจุบันผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มในกลุ่มปิโตรเคมีระดับ 35% ของการผลิตปิโตรเคมีของทั้งกลุ่ม

ปัจจุบัน IRPC มีรายได้ส่วนใหญ่จากธุรกิจกลั่นน้ำมัน 75% และจากธุรกิจปิโตรเคมี 25% แต่เมื่อโครงการ UHV แล้วเสร็จจะทำให้สัดส่วนรายได้ของธุรกิจปิโตรเคมีเพิ่มเป็น 40% และธุรกิจกลั่นเหลือ 60% แต่ในส่วนของกำไรนั้นคงต้องรอดูความช้ดเจนในปี 59 ที่จะรับรู้ผลประโยชน์จากโครงการ UHV เต็มปี แต่ตามปกติแล้วธุรกิจปิโตรเคมีจะทำกำไรได้ดีกว่าธุรกิจกลั่นน้ำมัน

*ลงทุนต่อเนื่องขยาย PP,ศึกษาโครงการปรับปรุงโรงกลั่น-ปิโตรฯ

นายสุกฤตย์ กล่าวว่า สำหรับแผนการลงทุนของบริษัทในช่วงนี้คงเหลือเพียงการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน(PP) อีก 3 แสนตัน/ปี มูลค่าลงทุนราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการขยายกำลังการผลิต PP จากโรงงานเดิมอีก 1.6 แสนตัน/ปี และการผลิต PP Compound( PPC) 1.4 แสนตัน/ปี ซึ่งใช้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวจะทำให้ มี PP เพิ่มเป็น 7.75 แสนตัน/ปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 4.75 แสนตัน/ปี โดยโครงการจะแล้วเสร็จในปี 60

สำหรับเงินลงทุนที่ใช้ในโครงการจะมาจากเม็ดเงินจากการดำเนินงานของบริษัท เนื่องจากเชื่อว่าหลังโครงการ UHV แล้วเสร็จน่าจะทำให้มีกระแสเงินสดกลับเข้ามามากขึ้น หลังจากที่ในปีที่แล้วกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) ติดลบราว 1.4 พันล้านบาท และเชื่อว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในปีนี้ ขณะที่อ้ตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน ยังต่ำกว่า 1 เท่า

ส่วนการศึกษาลงทุนผลิตพาราไซลีน(PX) ขนาด 1.2 ล้านตัน/ปี ร่วมกับบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC)นั้น ยังไม่มีความคืบหน้าหลังจากมาร์จิ้นอะโรเมติกส์ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนลดลง อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอดูทิศทางระยะหนึ่งก่อน

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการศึกษาโครงการเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานปิโตรเคมีเพื่อลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง แต่คงใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง จึงต้องพิจารณาช่วงเวลาในการลงทุนด้วยว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำ เบื้องต้นคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จในปีนี้

นายสุกฤตย์ กล่าวถึงการบริหารพื้นที่ของกลุ่มบริษัทว่า การบริหารจัดการที่ดินของบริษัทแบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นนิคมของกลุ่ม IRPC จำนวน 6 พันไร่ ส่วนใหญ่ใช้รองรับการขยายงานของกลุ่มบริษัทในอนาคต ส่วนที่สอง 2 พันไร่ ในอ.บ้านค่าย จ.ระยอง จะจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะกลุ่ม โดยมีแผนจะรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทรีไซเคิล ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้

และส่วนที่สาม จำนวน 2 พันไร่ อยู่ในอ.จะนะ จ.สงขลา มีแผนจะจัดตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใช้รองรับงานภาครัฐที่เกี่ยวเนื่องกับผลผลิตภาคใต้

IRPC มีธุรกิจ 4 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเลียม ซึ่งกำลังการกลั่นน้ำมันเต็มที่ 2.15 แสนบาร์เรล/วัน ,ธุรกิจปิโตเคมี ,ธุรกิจท่าเรือ และธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สิน ซึ่งที่ดำเนินการบริหารจัดการทรัพย์สินในส่วนที่เป็นที่ดินเปล่า มีทั้งที่ตั้งอยู่ในจ. ระยองและจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ไร่

นับแต่ต้นปีราคาหุ้น IRPC เพิ่มขึ้นราว 37% มาที่ 4.18 บาท ขณะที่ดัชนีหุ้นไทยเพิ่มขึ้นราว 7% ขณะที่โบรกเกอร์อย่างน้อย 7 แห่ง ออกบทวิเคราะห์ IRPC เห็นต่างกัน โดย 3 แห่งแนะ"ขาย"ขณะที่อีก 2 แห่ง แนะ"ถือ"และอีก 2 แห่งแนะ"ซื้อ"

ทั้งนี้ บล.เคทีบี(ประเทศไทย)แนะ"ซื้อ"มองว่า IRPC จะมีผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น เพราะได้ประโยชน์จากโครงการ UHV ที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและค่าการกลั่นอีก 2-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล นอกจากนี้ยังจ่ายปันผลปี 57 อีก 0.08 บาท/หุ้น

ขณะที่ บล.เกียรตินาคิน แนะ"ขาย"โดยมองว่าราคาหุ้น IRPC ปรับเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญจากความคาดหวังโครงการ UHV แม้ในมุมมองของเราเห็นว่าต้นทุนผลิตลดลง แต่ตลาดโพรพิลีนยังมีความเสี่ยงจากปัญหา Over supply เนื่องจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวใน 45-55 เหรียญ/บาร์เรลครึ่งปีแรก ซึ่งจะทำให้โรงงาน Naphtha Cracker กลับมาเดินเครื่องเพิ่ม และเพิ่ม Supply ของโพรพิลีนในตลาดเป็นปัจจัยกดดันราคาผลิตภัณฑ์ อีกทั้งเชื่อว่าค่าการกลั่นในไตรมาส 1/58 จะเป็นจุดสูงสุดของปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ