ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต อันดับเครดิตของหุ้นกู้สะท้อนถึง การได้รับการค้ำประกันในลักษณะไม่มีเงื่อนไข และไม่สามารถยกเลิกได้ จาก Holcim Ltd หรือ Holcim โดยปัจจุบัน Holcim ได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตของ Holcim อยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินภายในประเทศระยะยาว (Long-term Local-Currency Issuer Default Rating) ของประเทศไทย ซึ่งอยู่ในระดับ ‘A-’ สองระดับ ซึ่งเทียบเท่ากับอันดับเครดิตภายในประเทศที่ระดับ ‘AA-(tha)’
บริษัท โฮลซิม แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่บริษัทในกลุ่ม Holcim ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยบริษัทได้ลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัท ไทย ร็อค-เซม จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจำนวนร้อยละ 27.5 ของ บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง(SCCC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองในประเทศไทย โดย SCCC มีอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวอยู่ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ผู้ถือหุ้นของบริษัท โฮลซิม แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบด้วย บริษัท ไทย ร็อค-เซม จำกัด ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 และบริษัท โฮลเดอร์ฟิน บีวี ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 โดยหุ้นของบริษัท ไทย ร็อค-เซม จำกัด ทั้งหมดถือโดย บริษัท โฮลซิม พาทิซิเพชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท โฮลเดอร์ฟิน บีวี ที่ถือหุ้นทั้งหมดโดย Holcim
Holcim เป็นผู้นำในธุรกิจการผลิตและจำหน่ายซีเมนต์ หินก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง บริษัทมีการกระจายตัวของธุรกิจที่ดี ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในตลาดที่พัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ Holcim และของประเทศไทยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ค้ำประกันดังกล่าวได้ โดยที่การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตสากลหนึ่งอันดับ อาจนำไปสู่การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตภายในประเทศมากกว่าหนึ่งอันดับได้
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตของ Holcim ตามประกาศหัวข้อ ‘Fitch Affirms Holcim at 'BBB'; Outlook Stable’ ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 มีดังนี้ ปัจจัยบวก:- อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) ลดลงต่ำกว่า 2.5 เท่า และ อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Gross Leverage) ลดลงต่ำกว่า 2.0 เท่า โดยอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวคำนวณผลประกอบการจากธุรกิจในประเทศอินเดียตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pro-rata Consolidation)
- อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Gross Leverage) คำนวณจากงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statement) อยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 เท่า - กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) คำนวณจากงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statement) เป็นบวก
ปัจจัยลบ: - อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี ต่อรายได้ (EBIT Margin) โดยคำนวณผลประกอบการจากธุรกิจในประเทศอินเดียตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pro-rata Consolidation) อยู่ในระดับต่ำกว่า 10%
- อัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Net Leverage) สูงกว่า 3.5 เท่า และ อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Gross Leverage) สูงกว่า 3.0 เท่า โดยอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวคำนวณผลประกอบการจากธุรกิจในประเทศอินเดียตามสัดส่วนการถือหุ้น (Pro-rata Consolidation)
- อัตราส่วนหนี้สินที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO-Adjusted Gross Leverage) คำนวณจากงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statement) อยู่ในระดับสูงกว่า 4.0 เท่า - กระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) คำนวณจากงบการเงินรวม (Consolidated Financial Statement) เป็นศูนย์ หรือเป็นลบ