"ตอนนี้เราก็ศึกษาดูข้อมูลและรายละเอียดต่างๆของการเข้าไปลงทุนในบริษัทวินด์ เอ็นเนอร์ยี่เยอะมาก เพราะถ้าเราจะเข้าไปลงทุนจริงๆต้องมีความคุ้มค่าและให้ประโยชน์ต่อบริษัทของเรามากที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่เป็นรูปร่างและยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะสรุปออกมาได้เมื่อไหร่ ต้องดูไปอีกระยะหนึ่ง"นายอมร กล่าว
ทั้งนี้ WEH มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 12 โครงการ กำลังการผลิตราว 1 พันเมกะวัตต์ โดยเริ่มเดินเครื่องผลิตแล้ว 2 โครงการ และมีอีก 2 โครงการที่รอการก่อสร้าง แต่จะต้องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้นแล้วเสร็จก่อน หลังอดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่มีปัญหาด้านคดีความ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่ปล่อยเงินกู้ยืม ขณะที่ WEH ได้รับใบอนุญาตขายไฟฟ้าแล้วอีก 4 โครงการ
ขณะที่ EA ซึ่งทำธุรกิจไบโอดีเซล ต่อมาได้ขยายมารุกธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยตามแผนจะมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 4 โครงการ รวม 278 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันจ่ายไฟฟ้าแล้ว 2 โครงการ ขณะที่จะมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม 8 โครงการ กำลังการผลิตรวม 386 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานลมยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
"ตอนนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเอาหรือไม่เอา(WEH) และก็ยังไม่รู้ว่าถ้าไปลงทุนจริงเราถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไหร่ เพราะยังไม่แน่ใจว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ แต่ที่เราสนใจเพราะว่าวินด์ เอนเนอร์ยี่นั้นจะสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจพลังงานลมของบริษัทได้ และอยากให้มองว่าการที่เราแสดงความสนใจเข้าลงทุนไม่ใช่เป็นการสร้างมูลค่าให้กับหุ้น EA แต่อย่างใด"นายอมร กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
สำหรับแผนงานในปีนี้ บริษัทคาดว่ารายได้จะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 พันล้านบาท หลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใน จ.ลำปาง ขนาด 90 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มขายไฟฟ้าได้ก่อนสิ้นเดือน ก.พ.นี้ ทำให้สามารถรับรู้รายได้เข้าเกือบเต็มปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ให้แก่บริษัท จากปัจจุบันที่มีการรับรู้รายได้จากการขายไฟของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ.ลพบุรี ขนาด 8 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ จ.นครสวรรค์ ขนาด 90 เมกะวัตต์
รวมถึงยังจะมีรายได้จากธุรกิจไบโอดีเซลเข้ามา คาดว่าจะยังทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงปีก่อน โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้จากไบโอดีเซล 70% และจากพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 30%
ส่วนแผนการลงทุนในปีนี้ บริษัทตั้งงบลงทุนในปีนี้ไว้ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 90 เมกะวัตต์ใน จ.พิษณุโลก ซึ่งคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ และจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ในช่วงต้นปี 59 นอกจากนั้นจะใช้เงินลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการ ขนาดรวม 126 เมกะวัตต์ ในจ.นครศรีธรรมราช จำนวน 2 โครงการ และสงขลา จำนวน 1 โครงการ โดยจะเริ่มก่อสร้างภายในปลายปีนี้ และคาดว่าจะสามารถเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าได้ในปี 60
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานลมที่บริษัทมีอยู่ทั้งหมด 8 โครงการ และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)ในวันนี้ ซึ่งทั้ง 8 โครงการ จะใช้เงินลงทุนรวม 26,265.9 ล้านบาทนั้น โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะมากเงินกู้โครงการ(project finance)ราว 70-75% โดยมองว่าการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจะมีต้นทุนที่ถูกกว่าการใช้วิธีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะมาจากกระแสเงินสดที่มีอยู่
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม อีก 5 โครงการ ตั้งอยุ่ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ มีกำลังการผลิตรวม 260 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 60 และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในช่วงปี 61