อย่างไรก็ตาม มองว่าวัฎจักรของปิโตรเคมีจะเป็นขาขึ้นไปจนถึงปี 60 ซึ่งขณะนี้บริษัทมีแผนซื้อกิจการด้านเทคโนโลยีที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
นายชลณัฐ กล่าวว่า ปีนี้กลุ่มปิโตรเคมีจะเดินเครื่องผลิตเต็มที่ โดยไม่มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงงาน ท่ามกลางส่วนต่าง(สเปรด) ผลิตภัณฑ์ที่มองว่าอยู่ในระดับสูงที่ราว 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน แม้ว่าราคาผลิตภัณฑ์จะลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงและกดดันให้รายได้จากการขายลดลงจากปีก่อนก็ตาม ขณะที่ยังมองโอกาสการเข้าซื้อบริษัทที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อต่อยอดมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์
"น้ำมันลงเป็น benefit กับเรา ต้นทุนวัตถุดิบลดลง แต่ gap ไม่ได้ลงตาม...ถ้าสเปรดยังเป็นแบบนี้ น้ำมันอยู่อย่างนี้ เราน่าจะได้ประโยชน์ ตลาดเอื้ออำนวยแล้วคุณผลิตขายของได้ไหม ปีที่ผ่านมาโรงงานเดินดีมาก ปีนี้โรงงาน modify เครื่องจักร ทำให้ปริมาณขายเพิ่มขึ้นมา ปีนี้เราไม่มีแผนหยุดซ่อมบำรุง"นายชลณัฐ กล่าว
อนึ่ง ในปี 57 เอสซีจี เคมิคอลส์ มียอดขาย 2.48 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นราว 51% ของยอดขายรวมกลุ่ม SCC โดยมีสเปรดผลิตภัณฑ์หลัก คือ โพลีเอทิลีน (HPDE) กับวัตถุดิบแนฟทาที่ระดับ 682 เหรียญสหรัฐ/ตัน
นายชลณัฐ กล่าวว่า เอสซีจี เคมิคอลส์มีแผนจะหยุดซ่อมบำรุงใหญ่โรงงานระยองโอเลฟินส์อีกครั้งในช่วงปลายปี 59 ขณะที่คาดว่าวัฎจักรขาขึ้นของธุรกิจปิโตรเคมีจะยังคงยาวนานถึงปี 60 ก่อนจะเริ่มชะลอลง หลังจากกำลังการผลิตใหม่จะเข้ามาในตลาดโลก แต่เชื่อว่าจะอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก
ส่วนงบลงทุนของเอสซีจี เคมิคอลส์ในปีนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์เวียดนามที่มีมูลค่าลงทุนเบื้องต้น. 4.5. พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างสรุปตัวเลขกับผู้รับเหมา คาดว่าจะสรุปในช่วงปลายไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปีนี้ รวมถึงยังให้ความสนใจที่จะเข้าซื้อกิจการบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ในอนาคต
ในปีนี้เอสซีจี เคมิคอลส์ ตั้งงบลงทุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่กว่า 2.1 พันล้านบาท สูงกว่าราว 1 พันล้านบาทในปีที่แล้ว คิดเป็น 44% ของงบวิจัยเครือ SCC ในปีนี้ 4.8 พันล้านบาท ขณะที่มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินค้าในกลุ่ม HVA ซึ่งเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มในปีนี้ที่ 29% จาก 27% ในปีที่แล้ว และจะเพิ่มขึ้นปีละ 2-3% ขณะที่ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์ใหม่ว่า 14 รายการเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าใน 120 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ การที่เอสซีจี เคมิคอลส์มุ่งต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างฐานมูลค่าเพิ่มไปยังตลาดภูมิภาค อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยขณะนี้ได้มีการขายเทคโนโลยีบางส่วนออกสู่ตลาดบ้างแล้ว ทำให้มีรายรับกลับเข้ามาและในอนาคตอาจมีการขยายในส่วนของงานการให้บริการโรงงานเพิ่มขึ้น
นายชลณัฐ กล่าวถึงการซื้อกิจการ Nomer group ซึ่งเป็นบริษัทด้านการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในนอร์เวย์เมื่อปลายปีที่แล้ว มีการโอนหุ้นให้แล้ว 51% และจะโอนส่วนที่เหลือ 49% ภายในเดือน ก.ย58