บล.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.กรุ๊ปลีส(GL) เพิ่มประมาณการปี 58-60 ของ GL อย่างแรงถึง 1.4 เท่าจากเดิม และเพิ่ม FV ปี 58 เป็น 11.75 บาท จากข้อมูลใหม่ที่ได้รับเกี่ยวกับการเติบโตเชิงรุกในกัมพูชา และการปล่อยสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ผ่าน บ.ลูก ธนบรรณฯ
GL ประกาศกำไรสุทธิงวด 4Q57 เท่ากับ 94 ล้านบาท เติบโตอย่างมีนัยฯ จากที่ลดลงไปทำระดับต่ำสุดในงวด 3Q57 โดยมีกำไรสุทธิเพียง 4 ล้านบาท เนื่องจากผลกระทบของวิกฤติยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศ ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวเริ่มผ่อนคลายมากขึ้นในงวด 4Q57 แม้การปล่อยสินเชื่อสุทธิยังค่อนข้างทรงตัว แต่ได้อานิสงส์จากต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายและ NPL ที่เริ่มลดลง ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่ลดลงอย่างมีนัยฯ ถึง 27.9% qoq และ 0.1% yoy ทำให้ช่วยหักล้างค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ยังทรงตัวสูง และผลักดันให้กำไรสุทธิงวดนี้เติบโตสูงขึ้น
นอกจากนี้ สัญญาณบวกที่เห็นได้เพิ่มเติมจากผลการดำเนินงานงวดนี้ ได้แก่ สัดส่วนกำไรสุทธิที่มาจากบริษัทย่อยในกัมพูชา ได้แก่ บ. GL Finance : GLF (ถือหุ้น 100%) ที่คิดเป็น 22% ของกำไรสุทธิงวดนี้ ซึ่งเป็นกำไรที่ขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สอดคล้องกับฐานสินเชื่อสุทธิที่เพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ฝ่ายวิจัยเชื่อว่ากัมพูชาภายใต้การดำเนินธุรกิจของบริษัทย่อย GLF จะกลายมาเป็นหัวหอกขับเคลื่อนกำไรสุทธิของ GL และยังมีโอกาสสูงมากที่แนวโน้มสัดส่วนของกำไรสุทธิในกัมพูชาจะสูงกว่าในประเทศไทย ในช่วง 3 ปีข้างหน้าตามที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ภายใต้อัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 109.1% p.a.(CAGR) ภายหลังปรับปรุงประมาณการแล้ว ดังแสดงสรุปสมมติฐานหลักๆ ที่เปลี่ยนแปลงไว้ในตารางหน้า 3 โดยแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อสุทธิในกัมพูชาในปี 58 ประเมินว่าจะปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 2 พันล้านบาท คิดเป็นการเติบโตอย่างมีนัยฯ ถึง 264.2% yoy
เนื่องจากจุดแข็งของศักยภาพการทำกำไรที่สูงมากกว่าไทยใน 2 ประเด็นทั้งอัตราดอกเบี้ยรับเฉลี่ยของสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ที่สูงกว่าไทยหรือราว 2.5% ต่อเดือน (flat rate) และต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่ถูกกว่าไทยมาก เนื่องจากใช้เงินกู้ยืมที่เป็นสกุลดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งล้วนเป็นจุดแข็งที่ทำให้ GL ต้องการบุกธุรกิจในกัมพูชาให้มากขึ้นกว่าไทยซึ่ง GL ประเมินการเติบโตไว้ที่ราว 10% yoy ยังไม่รวมถึงแผนการบุกสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ ซึ่งจะดำเนินการผ่านบริษัทย่อย ธนบรรณฯ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงมาก