พร้อมกันนั้น บริษัทจะบริหารกำลังการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเป็น 1.2 พันล้านขวด จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1 พันล้านขวด และ 200 ล้านกล่อง เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ และเพื่อเป็นการรองรับการรับจ้างผลิตเครื่องดื่ม (OEM) ให้มีความหลากหลาย รวมทั้งการเพิ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้"ไบเล่" เข้ามาในพอร์ตการผลิต เป็นการสร้างฐานลูกค้าใหม่ๆ รวมไปถึงการจับมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งของภูมิภาค และระดับโลก เพื่อเปิดตลาดในอินโดนีเซีย
บริษัทตั้งงบด้านการตลาดในปีนี้ราว 800 ล้านบาท คิดเป็น 10.6% ของยอดขาย ซึ่งในแต่ละปีบริษัทจะสามารถใช้งบการตลาดได้ไม่เกิน 12% ของยอดขาย ซึ่งปีนี้บริษัทเตรียมเปิดแคมเปญใหม่ คือ "อิชิตัน รหัสรวยเปรี้ยง ภาค 4"แจกเบนซ์ 50 วัน 50 คัน เรื่มตั้งแต่ 5 มี.ค.-21 พ.ค.58 รวมมูลค่ากว่า 123.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักในการผลักดันรายได้ให้เติบโตตามเป้าหมาย และช่วยกระตุ้นตลาดรวมชาพร้อมดื่มให้เติบโตราว 15%
นายตัน เปิดเผยว่า บริษัทฯตั้งเป้าอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 14% จากปี 57 ที่คาดว่าจะทำได้ราว 17% ซึ่งแนวโน้มอัตรากำไรสุทธิจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากบริษัทสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็น 1.2 พันล้านขวดในช่วงไตรมาส 2/57 จะส่งผลให้สัดส่วนในการจ้างผลิต (OEM) ลดลงมาอยู่ที่ 2% จากปี 57 มีสัดส่วน OEM อยู่ที่ 5%
"ปัจจุบันกำลังการผลิตของบริษัทฯยังเพียงพอ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯยังรอดูแนวโน้มยอดขายในช่วงหน้าร้อนนี้ว่าจะเข้าสูงเพียงได ซึ่งจะเป็นสิ่งที่นำมาใช้พิจารณาการว่าจะมีการเพิ่มสายการผลิตใหม่หรือไม่ โดยหากจะขยายกำลังการผลิตจริงคาดจะใช้งบลงทุนราว 800 ล้านบาท/1 สายการผลิตใหม่"นายตัน กล่าว
สำหรับการขยายตลาดไปยังต่างประเทศนั้น บริษัทฯจะเน้นการขยายไปในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยคาดว่าจะเริ่มส่งออกได้ในช่วงหน้าร้อนนี้ทั้ง เวียดนาม พม่า และอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีสัดส่วนการส่งออกอยู่เพียง 1% คาดว่าปีนี้จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 5% และคาดวาจะเริ่มการบุกตลาดอินโดนิเซียนั้นคาดจะเริ่มจำหน่ายเครื่องดื่มอย่างเป็นทางการในเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้ ตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดราว 5% จากมูลค่าตลาดรวมที่ราว 7 หมื่นล้านบาท
"การเข้าไปร่วมลงทุนในอินโดนีเซียเพื่อให้สะท้อนโอกาสการเติบโตจากตลาดประเทศ และคาดจะถึงจุดคุ้มทุนในปี 60"นายตัน กล่าว
นายตัน กล่าวต่อว่า ในปีนี้บริษัทยังไม่มีแผนซื้อกิจการใหม่ แต่จะเน้นการเพิ่มสินค้าและแบรนด์ เพราะปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทำให้บริษัทต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสถานการณ์โลกด้วย
ส่วนผลประกอบการของปี 57 ยอมรับว่ายอดขายจะต่ำกว่าเป้าที่ 6.5 พันล้านบาท แต่ในส่วนของกำไรสุทธิจะทำได้ตามเป้า เนื่องจากบริษัทลดสัดส่วนการจ้างผลิต(OEM) ขณะที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 44% เป็นอันดับหนึ่งในตลาดชาพร้อมดื่ม จากปี 56 ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 42%
"ปีที่ผ่านมารายได้ของเราคงจะพลาดเป้าหมายที่วางไว้ เพราะผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอ ราคาพืชผลทางการเกษตรก็ตกต่ำไปด้วย ในขณะเดียวกันสภาพอากาศที่ค่อนข้างเย็น ส่งผลต่อยอดขายชาของเรา แต่หลังจากที่เราลดสัดส่วน OEM และบริหารต้นทุนได้ค่อนข้างดีทำให้กำไรสุทธิของเรายังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้" นายตัน กล่าว
ด้านนายธนพันธุ์ คงนันทะ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ICHI เปิดเผยว่า ในช่วงบ่ายนี้จะมีการพูดคุยกับกองทุนในประเทศรายหนึ่งที่สนใจเข้ามาลงทุนในบริษัท โดยเน้นเรื่องการชี้แจงถึงผลการดำเนินงานและเป้าหมายการเติบโตในอนาคต ทั้งนี้ ปกติจะมีกองทุนที่มาขอพบราว 10 กองทุนต่อเดือนทั้งกองทุนในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติเป็นเท่าใด เพราะต้องรอการปิดสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น