นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสนใจในการลงทุนใหม่ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องโดยเน้นการลงุทนด้านของพลังงาน ซึ่ง การเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ จะต้องไม่กระทบกับส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัท โดยหากสนใจจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจใดๆนั้น จะต้องมีอัตราผลตอบแทนส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ไม่ต่ำกว่า 20%
นายสมัย กล่าวอีกว่า บริษัทเตรียมแต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ในเดือนก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาและหาข้อสรุปว่าจะซื้อหุ้นเพิ่มในบมจ. เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จากปัจจุบันที่ถืออยู่ราว 4.4% หรือไม่ หลังยังคงเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานต่อเนื่อง ขณะที่เตรียมเข้าประมูลงานตามสัญญาต่างๆของโครงการเหมืองแร่โปแตชอาเซียนดังกล่าวด้วย
"ปีนี้ในส่วนของการก่อสร้างของเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จะมีการเปิดประมูลคัดเลือกผู้ก่อสร้าง ประมาณ 2-3 สัญญา มูลค่าสัญญาละ 1 หมื่นล้านบาท โดยเราจะเข้าไปประมูลในทุกๆสัญญา ซึ่งเราคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากงานนี้ในช่วงไตรมาส 4/58 เป็นต้นไป"นายสมัย กล่าว
เมื่อวานนี้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดพิธีมอบประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชฉบับแรกของไทยให้กับบมจ.เหมืองแร่โปแตชอาเซียน ในอ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ 9,700 ไร่ มีอายุประทานบัตร 25 ปี โดยโครงการจะเริ่มผลิตแร่โปแตชในปี 61 ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าแร่โปแตชเพื่อผลิตปุ๋ยโปแตชในอนาคต โดยคาดว่าจะทำให้การนำเข้าแร่โปแตชเพื่อผลิตปุ๋ยราว 7 แสนตัน/ปี เป็นศูนย์ในปี 62
สำหรับสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทจะประกอบด้วย กระทรวงการคลัง 24.17% กรมธนารักษ์ 11.50% บมจ.บางจาก 11.32% ประเทศอินโดนีเซีย 9.81%มาเลเซีย 9.81% กลุ่มไทย-เยอรมัน ไมนิ่ง 22.46% อาซาฮี 1.84% เครือเจริญโภคภัณฑ์ 0.80% บรูไน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ประเทศละ 0.75% โดยรวมแล้วฝ่ายไทยถือหุ้นสูงสุด 67.30% ประเทศสมาชิกอาเซียน 21.87% และอื่นๆ 10.83%