ในด้านการลงทุนต้องมองที่แหล่งวัตถุดิบเป็นหลัก โดยวัตถุดิบของกลุ่ม KTIS คืออ้อย ซึ่งนโยบายของภาครัฐก็ออกมาชัดเจนแล้วว่าจะเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยโดยการเปลี่ยนที่นาบางส่วนเป็นไร่อ้อย ดังนั้น การลงทุนในประเทศจึงไม่ต้องกังวลเรื่องของวัตถุดิบ ที่จะนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทราย และผลพลอยได้ยังนำเข้าสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า เอทานอล เยื่อกระดาษ ปุ๋ย เป็นต้น ทั้งนี้ การขยายการลงทุนของกลุ่ม KTIS ยังสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้ว่า จะมีผู้รับซื้ออ้อยจากเกษตรกรอย่างแน่นอน
"เมื่อมีการลงทุนมากขึ้น มีผลผลิตออกมามากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีการตลาดที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตขึ้น โดยลูกค้าในประเทศของ KTIS เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีความมั่นคงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดต่างประเทศนั้น ก็ถือเป็นจุดแข็งของกลุ่ม KTIS ที่มีพันธมิตรธุรกิจที่แข็งแกร่งอย่างซูมิโตโม ที่สามารถหาลู่ทางการตลาดในต่างประเทศให้กับสินค้าของกลุ่ม KTIS ได้เป็นอย่างดี"นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
การเข้าไปลงทุนในต่างประเทศจะต้องประเมินถึงผลได้ผลเสียให้รอบด้าน ทั้งเรื่องต้นทุนต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงในด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง ของประเทศที่จะเข้าไปลงทุน จึงเห็นว่า หาก KTIS ยังสามารถเติบโตได้ดีจากการลงทุนในประเทศไทย ก็ทำตรงนี้ให้เต็มที่ก่อน ส่วนในต่างประเทศนั้นจะใช้การตลาดเป็นตัวนำ และหากเห็นลู่ทางของการลงทุนที่ชัดเจน มั่นคงเพียงพอแล้วจึงจะพิจารณาเรื่องการลงทุน
ตอนนี้กำลังมองเรื่องการดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของไทย อย่างเช่นแนวคิดของไบโอฮับ (Bio Hub) ที่ต้องการใช้ศักยภาพของไทยเราผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ทั้งนี้ กลุ่ม KTIS นั้นมีความได้เปรียบในการแข่งขันอยู่หลายประการ ที่สามารถต่อเชื่อมกับการค้าขายหรือการลงทุนกับต่างประเทศ เช่น โรงงานของ KTIS ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ถือเป็นทำเลที่ดีที่สุดที่จะเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์ และลาว ส่วน KTIS Complex ที่จังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก จึงสามารถรองรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้อีกมาก นอกเหนือจากโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย โรงงานเอทานอล โรงไฟฟ้า และโรงงานปุ๋ยชีวภาพที่มีอยู่แล้ว
ทั้งนี้ บริษัทฯได้นำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนจำนวน 3,772 ล้านบาท ไปลงทุนตามวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้ครบถ้วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล 2 โรง กำลังการผลิตโรงละ 50 เมกะวัตต์ ใช้เงินประมาณ 1,400 ล้านบาท การลงทุนในโครงการผลิตน้ำเชื่อม (Liquid Sucrose) และโครงการผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (Super Refined Sugar) 980 ล้านบาท สร้างโรงงานปุ๋ยชีวภาพ 20 ล้านบาท ที่เหลือนำไปชำระหนี้และเป็นเงินทุนหมุนเวียน
โครงการต่างๆ เหล่านี้ เป็นการใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่ได้จากการผลิตน้ำตาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงเป็นการขยายโรงงานหรือสร้างโรงงานอยู่ภายในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงงานน้ำตาลทราย ทั้งที่จังหวัดนครสรรค์ และจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อให้บริหารต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยโครงการเหล่านี้ทั้งหมดจะเริ่มรับรู้รายได้ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้รายได้ปี 2558 เติบโตจากปีก่อนอย่างแน่นอน