สำหรับการผันน้ำจากอ่างฯประแสร์ มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ จ.ระยอง นั้น จะใช้ทั้งระบบท่อส่งน้ำและลำน้ำธรรมชาติ จากการก่อสร้างตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,677 ล้านบาท และกรมชลประทานได้รับมอบโครงการเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงในเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นจากการผันน้ำได้จนนำมาสู่การจัดทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในที่สุด
การผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ดังกล่าว จะไม่กระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานจากอ่างฯประแสร์ เนื่องจากเป็นการผันน้ำส่วนเกินความต้องการซึ่งปกติในแต่ละปีภาคการเกษตรจะใช้น้ำประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร อุปโภคและรักษาระบบนิเวศอีก 20 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมกับปริมาณน้ำที่จะผันมาอ่างฯคลองใหญ่ประมาณปีละ 80 ล้านลูกบาศก์เมตรแล้ว ก็ยังน้อยกว่าปริมาณความจุของอ่างฯประแสร์ที่สามารถจุได้ถึง 248 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังมีโครงการที่จะเพิ่มปริมาณความจุในระดับกักเก็บสูงสุดเป็น 295 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2558 นี้อีกด้วย
สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงครั้งนี้ กำหนดให้การประปาส่วนภูมิภาคและ EASTW จัดทำแผนการใช้น้ำที่สูบผันด้วยระบบท่อส่งน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์มายังอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่ และมอบหมายให้ EASTW เป็นผู้ดำเนินการสูบผันน้ำทั้งระบบ โดยในปีที่ 1 สามารถนำน้ำไปใช้ได้หน่วยงานละไม่เกินปีละ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร และปีที่ 2 ถึงปีที่ 5 หน่วยงานละไม่เกินปีละ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทานจะจัดทำแผนการสูบผันน้ำให้ทั้ง 2 หน่วยงานดำเนินการสูบน้ำตามแผน พร้อมทั้งรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการระบบท่อส่งน้ำทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าจัดหาบุคคลเข้าทำการบริหารงานค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาระบบท่อส่งน้ำ และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมระบบท่อส่งน้ำที่ชำรุดเสียหายอันเกิดจากการใช้งานตามปกติ
นอกจากนี้ การประปาส่วนภูมิภาคและ EASTW จะต้องรับผิดชอบค่ากระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นที่โรงสูบน้ำอ่างเก็บน้ำประแสร์ ตามสัดส่วนปริมาณน้ำที่วางแผนการใช้รายเดือน ตลอดจนจะต้องชำระค่าชลประทาน ตามพระราชบัญญัติการชลประทานหลวง พุทธศักราช 2485 และที่สำคัญจะต้องร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมหรืองบประมาณด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Social Responsibility : CSR) อีกด้วย
นอกจากนี้ทั้ง 2 หน่วยงานจะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยในบริเวณสถานีสูบผันน้ำดูแลบำรุงรักษา ซ่อมแซม ปรับปรุงระบบท่อส่งน้ำให้มีประสิทธิภาพและอยู่ในสถานะพร้อมใช้งานตลอดเวลา พร้อมจัดทำระบบป้องกันน้ำรั่วไหลไปทำความเสียหายเดือดร้อนแก่บุคคลภายนอกซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง และต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการสูบผันน้ำทั้งทรัพย์สินของทางราชการ ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลภายนอกอีกด้วย โดยบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563