สำหรับวงเงินลงทุนดังกล่าวจะใช้ประมาณปีละ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การลงทุนขนาดใหญ่จะเป็นลักษณะของการใช้เงินกู้โครงการ (Project Finance) และเป็นการลงทุนระยะยาว 3-5 ปี
โดยโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตร ซึ่งบริษัทจะถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50% โดยขณะนี้ได้พันธมิตรจากญี่ปุ่นแล้ว 1 ราย และคาดว่าจะสามารถคัดเลือกพื้นที่ก่อสร้างได้ในช่วงเดือนมี.ค-เม.ย หลังจากนั้นจะเสนอคณะกรรมการพิจารณาแผนงานเบื้องต้น หากอนุมัติก็คาดว่าจะใช้เวลาศึกษา 1 ปีว่าจะตัดสินใจทำหรือไม่
สำหรับโครงการจะตั้งในเมือง Marcellus เขตตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ เพื่อผลิตโอเลฟินส์ขนาด 1 ล้านตัน/ปี ใช้ก๊าซอีเทนจาก shale gas เป็นวัตถุดิบ เพื่อรองรับตลาดในสหรัฐที่ยังมีการนำเข้าในปริมาณที่มาก โดยบริษัทจะทำสัญญากับผู้ผลิต shale gas หรือผู้จัดหา shale gas เพื่อให้มีวัตถุดิบเพียงพอในการผลิตโดยคาดว่าโครงการจะมีผลตอบแทนการลงทุนราว 14%
ส่วนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในอินโดนีเซีย ที่จะร่วมทุนกับเปอร์ตามิน่านั้น เบื้องต้นคาดว่ามีมูลค่าลงทุนราว 5 พันล้านเหรียญ ขณะนี้บริษัทได้ยื่นข้อเสนอเพื่อเจรจาร่วมกันอีกครั้ง หลังจากที่ทางกลุ่มเปอร์ตามิน่าได้เลือกซาอุดิอารามโก้มาเป็นพันธมิตรในการสร้างโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งทำให้มีแนฟทาเหลือมากพอที่จะรองรับการทำปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ได้ จึงเห็นว่าควรจะร่วมกันดำเนินการทั้งสามฝ่าย คาดว่าจะสรุปได้ใน 2-3 เดือนนี้ โดยในส่วนของปิโตรฯคอมเพล็กซ์ดังกล่าวจะเป็นการสร้างโรงโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง กำลังการผลิตรวม 1.5 ล้านตัน/ปี
นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในโครงการ PU Project ซึ่งเป็นการลงทุนครบวงจรในห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์โพลิยูรีเทนในไทยนั้น ขณะนี้ได้ลงนามเอ็มโอยูกับพันธมิตรต่างชาติซึ่งมีเทคโนโลยีในการผลิตโดยมีเป้าหมายตั้งโรงงานโพรพิลีนออกไซด์(PO) ขนาด 2 แสนตัน/ปี เพื่อนำไปสู่การผลิตโพลีออลวัตถุดิบต้นทางสำหรับผลิตภัณฑ์โพลิยูรีเทน โดยใช้เงินลงทุนราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐคาดจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2/58
"การลงทุนอยู่ภายใต้เงิน 4.5 พันล้านเหรียญ ถ้าขึ้นทั้งสามโครงการก็อาจจะดึงได้ถึง 5 พันล้านเหรียญใช่วง 5 ปี" นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
นายปฏิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี PTTGC กล่าวว่า งบลงทุน 5 ปี จะมาจากกระแสเงินสดราว 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอีกราว 2 พันล้านเหรียญจะมาจากเงินกู้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นหุ้นกู้ราว 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเน้นการออกในสกุลเงินดอลลาร์มากกว่า
ขณะที่คาดว่ากำไรปีนี้จะดีกว่าปีก่อน หลังมองว่าจะไม่มีผลขาดทุนจากสต็อกเช่นในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาน้ำมันช่วงต้นปีอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่คาดว่าค่าการกลั่น (GRM) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกในปีนี้จะอยู่ที่ราว 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จาก 4.4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ส่วนส่วนต่าง(สเปรด)ผลิตภัณฑ์ HPDE จะใกล้เคียงปีก่อนที่ราว 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน และสเปรดผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน ซึ่งยังอยู่ระดับต่ำ
ส่วนปีนี้ไม่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน แต่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงอะโรเมติกส์ 1 แห่งและโรงโอเลฟินส์ 2 แห่งในช่วงไตรมาส 3/58
นายปฏิภาณ กล่าวว่า สำหรับแผนการขยายกำลังการผลิตตามแผนที่จะแล้วเสร็จในปีนี้มี 3 โครงการ ได้แก่ โครงการฟีนอล 2 โครงการทีโอซีไกลคอล และโครงการอะโรเมติกส์ 2 นั้นจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ จะช่วยหนุนให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าเติบโต 15-30%