"การลงทุนของ PTTEP ก็จะระมัดระวังการลงทุนมากขึ้น สิ้นเดือนมีนาคมนี้ก็น่าจะทราบว่าเป็นอย่างไร ทั้งกลุ่มกำลังทำ revise สำหรับการลงทุนในปีนี้ก่อน"นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ PTT กล่าว
สำหรับงบลงทุน 5 ปีของกลุ่มที่ราว 1 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนของ PTTEP ราว 53% และเป็นการลงทุนของปตท. ราว 33% ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนของบริษัทลูกซึ่งรวมถึงธุรกิจกลั่นและปิโตรเคมีด้วย โดยในส่วนงบลงทุน 5 ปีของปตท. อยู่ที่ 3.27 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนในปีนี้ราว 8.55 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในโครงการก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เฟส 2
โดยราคาน้ำมันที่ลดลงมากในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ทั้งกลุ่มต้องปรับแผนการลงทุนใหม่ โดยได้เริ่มทบทวนแผนแล้วและคาดว่าจะเสร็จในเดือนมี.ค. จากเดิมที่จะทบทวนในช่วงกลางปี ทั้งนี้เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ด้านนายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน PTT มองว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงช่วงนี้เป็นโอกาสในการลงทุน และราคาน้ำมันช่วงต้นปีที่อยู่ระดับต่ำก็มีโอกาสฟื้นตัวขึ้นมาในช่วงหลังจากนี้ทำให้คาดว่าปีนี้จะมีกำไรจากสต็อกน้ำมันจากที่ขาดทุนจากสต็อกในปีก่อน
อย่างไรก็ตาม การที่ปตท.เป็นบริษัทที่มีการผลิตครบวงจรในธุรกิจช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงได้ในช่วงนี้ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงมากกว่าการลดลงของน้ำมันสำเร็จรูปทำให้มาร์จิ้นของโรงกลั่นอยู่ในระดับที่ดี อีกทั้งมองว่าราคาน้ำมันที่จะฟื้นตัวขึ้นก็จะทำให้ PTTEP ไม่ต้องตั้งสำรองการด้อยค่าจำนวนมากเหมือนในปีก่อน ซึ่งก็จะช่วยหนุนให้ EBITDA ของปตท.ในปีนี้ดีขึ้นด้วย
นอกจากนี้ การที่รัฐบาลได้ทยอยปรับจึ้นราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ในช่วงที่ผ่านมาก็จะทำให้ปีนี้การขาดทุนจากธุรกิจ NGV ลดลงจากขาดทุน 1.9 หมื่นล้านบาทในปีก่อน โดยราคา NGV ที่ระดับ 13 บาท/กิโลกรัมนั้นขยับเข้าใกล้ต้นทุที่ 15.00-15.50 บาท/กิโลกรัมแล้ว
ส่วนความคืบหน้าโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม มูลค่า 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการขอใบอนุญาตการลงทุนกับรัฐบาลเวียดนาม
นายวิรัตน์ กล่าวอีกว่า ปีนี้บริษัทยังไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุนเพิ่มเพื่อลงทุน เพราะมีกระแสเงินสด และยังมีแผนจะขายหุ้นทั้งหมดในบมจ.บางจากปิโตรเลียม(BCP) และนำหุ้นโรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง (SPRC) เข้าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งคาดจะเป็นช่วงครึ่งหลังปี 58 รวมถึงการนำหุ้น SPRC เข้าตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2/58 ด้วย
อย่างไรก็ตาม หากจะมีการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ก็อาจจะเป็นการออกเพื่อทดแทนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนด 7 พันล้านบาทในช่วงไตรมาส 3/58
นอกจากนี้ ปตท.ยังอยู่ระหว่างศึกษาการนำธุรกิจค้าปลีกเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วย ซึ่งมีการศึกษาในหลายรูปแบบโดยธุรกิจค้าปลีกมีทั้งในส่วนนอนอ่อยล์ แอลพีจี คลังน้ำมัน เป็นต้น ขณะที่การควบรวมบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และบมจ.ไออาร์พีซี(IRPC) ยังอยู่ในแผนแต่ไม่เร่งรีบ