โดยในไตรมาส 1/58 คาดว่าจะมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร(Cabin Factor) ที่ 84-86% ดีกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มี Cabin Factor มีไม่ถึง 78% โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีนในก.พ.มี Cabin Factor สูงถึงกว่า 90% เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามามาก และทั้งปี 58 คาดว่า Cabin Factor จะอยู่ที่ 83%
"ตอนนี้ ดูแล้วการท่องเที่ยวไทยกลับมา 90% จากปีที่แล้วที่ตั้งแต่ไตรมาสแรกจนถึงไตรมาส 4 ไม่เติบโต เพิ่งจะเริ่มดีกลางเดือนพฤศจิกายน" นายธรรศพลฐ์ กล่าว
ส่วนในปีนี้ บริษัทจะรับมอบเครื่องบินอีก 5 ลำ ใช้เงินลงทุนราว 6 พันล้านบาท โดยรับมอบไปแล้ว 2 ลำ และจะรับมอบที่เหลืออีก 3 ลำในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้สิ้นปี 58 จะมีฝูงบิน 45 ลำจากสิ้นปี 57 ที่มีอยู่ 40 ลำ นอกจากนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะเปิดจุดบินใหม่ในประเทศจีนอีก 3-4 เส้นทาง
ด้านนายโทนี่ เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่"บัตรแอร์เอเชียอาเซียนพาส" และ"บัตรแอร์เอเชียอาเซียนพาสพลัส" ซึ่งเป็นอีกนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้โดยสารบินกับแอร์เอเชียคุ้มค่ายิ่งขึ้น และช่วยเชื่อมต่อประชาคมอาเซียนใกล้ชิดรวมทั้งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามายังภูมิภาคมากขึ้น
โดยบัตรอาเซียนพาส ราคา 5,300 บาท จะมียอด 10 เครดิต (ที่ทำหน้าที่เสมือนหน่วยเงินเดียว) บัตรมีอายุ 30 วัน(บัตรนับแต่วันเดินทางวันแรก)และบัตรอาเซียนพาสพลัส ราคา 9,300 บาท จะมียอด 20 เครดิต บัตรมีอายุ 60วัน (บัตรนับแต่วันเดินทางวันแรก)
ทั้งนี้ผู้ถือบัตร "บัตรแอร์เอเชียอาเซียนพาส" และ"บัตรแอร์เอเชียอาเซียนพาสพลัส" จะสามารถเดินทางกับเที่ยวบินของแอร์เอเชียทุกเที่ยวบินในราคาเดียวกัน ครอบคลุม 148 เส้นทางทั่วทั้ง 10 ประเทศในอาเซียนโดยการจ่ายเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อเครดิตที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนหน่วยเงินเดียว (Single Currency) ลดความยุ่งยากของอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้ถือบัตรนี้วางแผนการเดินทางทั่วอาเซียนได้ตามต้องการและสะดวกยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เที่ยวบินที่ใช้เวลาบินน้อยกว่า 2 ชั่วโมง จะคิดมูลค่าที่ 1 เครดิต และเที่ยวบินตั้งแต่ 2ชั่วโมงขึ้นไปจะคิดมูลค่าที่ 3 เครดิต จะไม่มีการคิดค่าธรรมเนียมสำรองที่นั่งจากการสำรองที่นั่งโดยหักมูลค่าในบัตรดังกล่าว แต่ผู้โดยสารจะต้องชำระค่าภาษีสนามบินและค่าบริการเสริมต่างๆ เพิ่มเติม
"เรามองว่าอาเซียน เป็นตลาดเดียวกัน และเพื่อรองรับ AEC. แอร์เอเชียจึงเห็นโอกาส. โดยเรื่องนี้ได้คิดมานาน10ปีแล้วและได้เห็นความร่วมมือทั้งจากองค์กรสาธารณะและในกลุ่มแอร์เอเชียจากเหตุการณ์ครื่องบินแอร์เอเชียตกที่อินโดนีเซีย. และAEC จะเปิดปีนี้จึงคิดว่าเวลานี้เหมาะที่จะออกบัตรแอร์เอเชียอาเซียนพลัส" นายเฟอร์นานเดส กล่าว
นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่า การออกบัตรแอร์เอเชียนพาสและบัตรแอร์เอเชียนพาสพลัส จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวในอาเซียนมากขึ้น เพราะราคาบัตรฯดังกล่าวได้ลดราคากว่า 50% เป้าหมายหลักเพื่อรักษาฐานลูกค้า โดยเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว และกระตุ้นการเดินทางเมืองที่ยังไม่เคยเดินทาง อย่างไรก็ตามคาดว่าจะรู้ผลตอบรับภายใน 3-6เดือนข้างหน้า
โดยคาดว่าในปีนี้กลุ่มสายการบินแอร์เอเชียมีจำนวนผู้โดยสารมากกว่า 75 ล้านคน จากปีก่อนมีจำนวนผู้โดยสามากกว่า 55 ล้านคน โดยกว่า 55% อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน
ส่วนกรณีที่องค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจสอบกรมการบินพลเรือนเมื่อปลายม.ค.ที่ผ่านมา นายธรรศพลฐ์กล่าวว่าขณะนี้ผลการตรวจสอบยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ แต่หากผลออกมาปรับลดเครดิตกรมการบินพลเรือนก็จะส่งผลในทางลบต่อสายการบินแน่นอน