(เพิ่มเติม) CWT คาดโรงไฟฟ้าขยะเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ใน 2 ปีครึ่งหลังเซ็น MOU พันธมิตร

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 24, 2015 12:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ปผcwtป ผนึกกำลังกับพันธมิตรผู้มีประสบการณ์ด้านพลังงานขยะ ประกาศรุกธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานขยะเต็มตัว เซ็นต์ MOU กับ บริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด และ บริษัท ลาวี เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าโครงการแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า 3 แห่ง กว่า 40 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 8 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ภายใน 2 ปีครึ่ง หลังจาการลงนามในบันทึกความร่วมมือขั้นต้น(MOU)ในวันนี้

นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ CWT กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะ 4 แห่งใน 3 พื้นที่ในประเทศ กำลังการผลิตโรงละ 10 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 8 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้รับสัมปทานกำจัดขยะจากเทศบาลใบแรกภายในครึ่งแรกของปีนี้ ส่วนที่เหลืออีก 3 สัญญาจะได้ครบภายใน 2 ปีข้างหน้า

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกในครึ่งปีหลัง ซึ่งช่วงปีแรกของการเริ่มลงทุนคาดว่าจะใช้เงินร่วมทุนราว 300 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากการออกตราสารหนี้ คาดว่าจะสรุปแผนการออกหุ้นกู้ในวันที่ 27 ก.พ.นี้ และจากนั้นหลังจากโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ได้แล้ว อาจจะมีการพิจารณาการใช้เครื่องมือทางการเงินที่เป็นตราสารทุน

"อนาคตหลังจากที่เริ่มมีรายได้จากธุรกิจพลังงานเข้ามา จะส่งผลให้สัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานจะสูงกว่ารายได้จากธุรกิจเดิมมากเพราะในอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้าขยะจะมีกำไร 30 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์ เพราะมีรายได้จากการบริหารจัดการขยะและการขายไฟฟ้า โดยผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ของอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ระดับ 16-22%" นายวีระพล กล่าว

ทั้งนี้ พันธมิตรทั้ง 2 รายเป็นผู้มีประสบการณ์และคลุกคลีในแวดวงพลังงานทดแทนและโรงไฟฟ้า ซึ่งก็พบว่า ซีโรเวซท์ มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการจัดการขยะ ด้วยการแปลงขยะมูลฝอยจากแหล่งต่าง ๆ ให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า ส่วนบริษัท ลาวีฯ ผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และก่อสร้างโรงไฟฟ้า กว่า 40 แห่งทั้งในประเทศและเอเซีย ดังนั้น บริษัทจึงมั่นใจที่จะรุกสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างเต็มตัว

"ทางบริษัทฯ ได้มีการศึกษาเรื่องธุรกิจพลังงานอย่างจริงจังมาระยะหนึ่งแล้ว และประเมินว่าประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะใช้พลังงานทดแทนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย กำลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปลายปีนี้ อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจัยดังกล่าว บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสในการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้า"นายวีระพล กล่าว

ด้านนางสาวทักษ์สุตา ถิ่นสันติสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีโรเวซท์ จำกัด กล่าวว่า เราในฐานะผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ทางด้านเทคโนโลยีการจัดการขยะ และแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า การที่บริษัทฯ ได้ ลงนาม MOU ในครั้งนี้ เพื่อเดินหน้าโครงการขยะด้วยเทคโนโลยีแบบผสมผสาน โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะ แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจัยสำคัญของการนำขยะมาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าก็คือ เทคโนโลยีการคัดแยก และปรับปรุงคุณภาพขยะให้เป็นเชื้อเพลิงคุณภาพดี ค่าความร้อนสูงหรือ ที่เราเรียกว่า RDF (Refuse Derived Fuel) และการนำขยะเปียก หรือขยะอินทรีย์ไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร

นายอุดมศักดิ์ แก้วศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลาวี เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ด้านการสร้างโรงไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง มีโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรในการลดปัญหาขยะมูลฝอย ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และมลพิษจากบ่อฝังกลบขยะ การที่นำขยะมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า จะทำให้ปัญหาขยะล้นเมืองลดลง ส่งผลดีโดยรวมต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนด้านการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

*CWT มั่นใจปีนี้ฟื้นกำไรแน่ เตรียมจับมือพันธมิตรตั้งรง.ในเขมร

นายวีระพล เปิดเผยอีกว่า บริษัทมั่นใจว่าผลประกอบการปี 58 จะมีกำไรแน่นอน โดยคาดว่ากำไรสุทธิจะกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 55 ที่ทำกำไรได้ราว 85 ล้านบาท ขณะที่ผลประกอบการปี 57 ที่จะประกาศในช่วงปลายเดือนนี้ยังต้องลุ้นว่าจะมีกำไรหรือไม่ หลังจาก 3 ไตรมาสแรกของปีมีผลขาดทุน 31 ล้านบาท แต่ไตรมาส 4/57 ค่อนข้างดีขึ้นมาก จึงมีโอกาสที่จะทำให้บริษัทพลิกกลับมามีกำไร หรือขาดทุนเล็กน้อย

ปัจจุบัน บริษัทมีงานในมือ (Backlog) อยู่ราว 1.2 พันล้านบาท และจะสามารถรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ทั้งหมด โดยบริษัทได้รับงานจากลูกค้ากลับมาจากทั้ง ฮอนด้าและอีซูซุเกือบทั้งหมดแล้ว

"ปีนี้บริษัทมั่นใจว่ากำไรสุทธิจะกลับมาใกล้เคียงกับปี 55 สำหรับปี 56-57 ที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นฝันร้ายไป ซึ่งปัจจุบันเองเราได้รับออเดอร์กลับมาจาก ฮอนด้าและอีซูซุ เกือบทั้งหมดแล้ว ทำให้เรามั่นใจว่ารายได้ของเราจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้เพราะเรามี Backlog รองรับไว้ทั้งหมดแล้ว สำหรับผลประกอบการปี 57 เรายังต้องรอลุ้นวันที่ 27 ก.พ.นี้ว่าจะสามารถกลิกกลับมามีกำไรได้หรือไม่ เพราะ 9 เดือนแรกเรายังขาดทุน แต่ไตรมาส 4 เป็นไตรมาสที่ดีมาก"นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ตั้งงบลงทุนในธุรกิจเดิมจำนวน 100 ล้านบาท โดยร่วมกับพันธมิตรจากญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนในประเทศกัมพูชา ตั้งโรงงานตัดเย็บเบาะหนังรถยนต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงเดือน เม.ย.58 และเริ่มเดินเครื่องผลิตได้ในช่วงปลายปีนี้ ในส่วนที่เหลือจะใช้เงินลงทุนเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต แหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทและการกู้เงินระยะสั้นจากสถาบันการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ