พร้อมพลิก BANPU เข้าสู่ยุคผู้บริหารใหม่ในช่วงที่บริษัทมีความแข็งแรงมากขึ้น นำทีมโดยนางสาวสมฤดี ชัยมงคล ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-การเงิน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารในเดือนเม.ย.นี้ แทนนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ที่จะนั่งเป็นกรรมการเพื่อช่วยสนับสนุนงานเพิ่มเติม
“เราประเมินโอกาสการลงทุนและการเข้าซื้อกิจการพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และไฟฟ้าพลังน้ำ และเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง บริษัทมีแผนที่จะนำบริษัทบ้านปูเพาเวอร์เข้าตลาดในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า เพื่อให้การเติบโตของบ้านปูเนื่อง"นายชนินท์ กล่าว
ทั้งนี้ บ้านปู เพาเวอร์ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนราว 1 พันเมกะวัตต์ โดยเป็นการผลิตของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทย และโรงไฟฟ้า 3 แห่งในจีน รวมทั้ง มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามแผน ได้แก่ โรงไฟฟ้าหงสา ในลาว และโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวงในจีน ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จ จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมราว 4 พันเมกะวัตต์ หรือคิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุนของบ้านปูราว 2 พันเมกะวัตต์ในช่วง 2 ปีข้างหน้า
นายชนินท์ กล่าวว่า โรงไฟฟ้าหงสาในลาว ขนาด 1,878 เมกะวัตต์นั้น BANPU ถือหุ้นอยู่ 40% นั้น ยูนิตแรกจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ และยูนิตที่สองจะแล้วเสร็จในปลายปี ยูนิตสามจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งจะทำให้ BANPU มีเงินปันผลเข้ามาราว 2.4 พันล้านบาท/ปีในปี 59 หากทั้งสามยูนิตแล้วเสร็จและจะสร้างกระแสเงินสดให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
สำหรับโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาด 1,200 เมกะวัตต์ในจีนนั้น BANPU ถือหุ้นอยู่ 30% จะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 60 ขณะที่บริษัทยังให้ความสนใจที่จะลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในจีนและญี่ปุ่น ตลอดจนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานในลาว ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้
นายชนินท์ กล่าวอีกว่า หลังจากโรงไฟฟ้าหงสาแล้วเสร็จจะทำให้สัดส่วนกำไรของธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเป็น 35-40% จากราว 20% ในขณะนี้ ซึ่งเป็นระดับเดียวกับสัดส่วนกระแสเงินสดของบริษัท ขณะที่กำไรส่วนที่เหลือยังมาจากธุรกิจถ่านหิน อีกทั้งการที่โรงไฟฟ้าหงสาแล้วเสร็จจะทำให้กระแสเงินสดเข้ามามากขึ้น จากปัจจุบันที่สร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย(EBITDA) ได้ราว 650-700 บาทต่อปี
ด้านนางสมฤดี กล่าวว่า การเติบโตของ BANPU จะยังคงมาจากธุรกิจถ่านหินและไฟฟ้าเป็นหลัก โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนกลยุทธ์ฉบับใหม่ (ปี 59-63) เน้นกลยุทธ์ 3 ด้าน ได้แก่ กลยุทธ์ด้านทรัพย์สิน ที่จะลงทุนเพิ่มมูลค่าของธุรกิจถ่านหิน ไฟฟ้า และพลังงาน ,กลยุทธ์ทางด้านการเงิน ที่มีความเหมาะสมกับโครงการและผลตอบแทนของโครงการ และ กลยุทธ์ที่เกี่ยวกับองค์กร
ขณะที่ในปีนี้จะสิ้นสุดแผนกลยุทธ์ฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีกำหนดเใช้เงินลงทุน 423 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่ลงทุนในโครงการหงสา 149 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เหลือจะใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าและถ่านหินอื่นๆ ตามแผนงาน ขณะที่คาดโรงไฟฟ้าหงสาจะใช้เงินลงทุนอีก 192 ล้านเหรียญสหรัฐในปีหน้าด้วย ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้เพื่อใช้ทดแทนเงินกู้เดิมในช่วงไตรมาส 2-4 ปีนี้
นางสมฤดี กล่าวว่า ธุรกิจถ่านหินในปีนี้ยังคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงจากปีก่อนมาอยู่ในช่วง 28-32% จาก 32% ในปีที่แล้ว แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบจากราคาถ่านหินที่อยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ยังได้รับประโยชน์จากต้นทุนเชื้อเพลิงน้ำมันที่ลดลงด้วย ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าจะเริ่มเห็นกำไรเพิ่มขึ้น ทำให้มีกระแสเงินสดระยะยาวที่จะดูแลให้เกิดการลงทุนได้ต่อเนื่อง และจ่ายคืนเงินกู้ได้ตามกำหนด
แผนการดำเนินงานในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตถ่านหินจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีน รวม 48.5 ล้านตันเท่ากับปีที่แล้ว โดยเป็นผลผลิตจากเหมืองในอินโดนีเซีย 30 ล้านตัน และออสเตรเลีย 14 ล้านตัน และจีน 4.5 ล้านตัน ขณะที่ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยในปีนี้คงอยู่ระดับต่ำกว่าปีก่อนที่เฉลี่ย 65.4 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากยังมีอุปทานส่วนเกิน แต่ขณะนี้เริ่มเห็นต้นทุนการผลิตสูงเกินราคาขายแล้ว ทำให้คาดว่าราคาถ่านหินในตลาดโลกน่าจะใกล้จุดต่ำสุดแล้ว และจะเห็นราคาดีขึ้นในปี 59 ขณะที่ความต้องการยังคงเติบโต โดยเฉพาะในอินเดีย
*ปรับทีมผู้บริหาร
นายชนินท์ กล่าวว่า BANPU เตรียมแผนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมาเป็นเวลานานแล้ว โดยได้ปูพื้นฐานและเตรียมความพร้อมของผู้สืบทอดตำแหน่งในหน้าที่สำคัญๆหลายตำแหน่ง โดยคณะกรรมการบริษัทได้เสนอชื่อนางสมฤดี ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งคาดว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งอย่างเป็นทางการประมาณ วันที่ 10 เม.ย.นี้ ภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้น และการประชุมคณะกรรมการบริษัทอีกครั้งหนี่ง ขณะที่นายชนินท์ จะยังคงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท และให้คำปรึกษาแนวทางการพัฒนาแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทต่อไป
“30 ปีที่ผ่านมาเราผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เราจัดการวิกฤตได้ด้วยพลังของพนักงานและผู้บริหาร เราเรียนรู้จากวิกฤตที่เกิดขึ้น รู้สึกว่าเราแข็งแรงมากขึ้น มาถึงจุดที่คณะกรรมการและผมเห็นตรงกันว่าเหมาะสมแล้วที่จะเปลี่ยนถ่ายไปผู้บริหารในรุ่นต่อๆไป…เชื่อว่าคุณสมฤดี มีความรู้ประสบการณ์มาก อยู่กับบริษัทมาถึง 30 ปี เชื่อว่าความคิด วัฒนธรรมองค์กรจะสะท้อนในส่วนการบริหารงานต่อไปได้"นายชนินท์ กล่าว