"ไพบูลย์"แนะกนง.ลดดบ.เพื่อช่วยกระตุ้นศก. มองการเมืองยังเป็นปัจจัยเสี่ยง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 25, 2015 18:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวในงานนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและปาฐกถาพิเศษว่า จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ยังไม่มีการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน มองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังสามารถมีการปรับลดลงได้จากระดับปัจจุบันที่ 2% เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีการเติบโตขึ้น แม้ว่าในปัจจุบันภาระหนี้สินของประเทศยังอยู่ในระดับที่สูง อย่างเช่น ภาระหนี้สินครัวเรือนที่มีสัดส่วน 80% ของจีดีพี ภาระหนี้สินของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 70% ของจีดีพี และภาระหนี้สินของภาครัฐอยู่ที่ 40% ของจีดีพี

ทั้งนี้ภาระหนี้สินดังกล่าวส่งผลกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้แนวทางการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นแนวทางที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยได้อย่างหนึ่ง

สำหรับบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มพลังงาน มองว่า ยังมีความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับการเปิดสัมปทานใหม่ๆยังไม่มีรายละเอียดที่ออกมาอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้น ประกอบกับปัจจัยทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อนโยบายพลังงานต่างๆ สร้างความไม่แน่นอนเกิดขึ้น เนื่องจากการดำเนินนโยบายของภาครัฐมีความไม่ต่อเนื่อง ส่งผลการประเมินน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานต่ำกว่าตลาด

อย่างไรก็ตามหุ้นในกลุ่มพลังงานที่มีความน่าสนใจนั้นจะเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการเกี่ยวกับโรงกลั่นที่ได้รับผลดีจากอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัว และแนวโน้มราคาน้ำมันที่ในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะมีการปรับตัวขึ้น ส่วนหุ้นที่มีการดำเนินกิจการเกี่ยวข้องกับไฟฟ้านั้นยังคงมีความน่าสนใจ แต่ยังต้องรอแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ให้มีความชัดเจนออกมา ส่วนหุ้นที่เกี่ยวข้องกำกับดำเนินธุรกิจพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์นั้นความสนใจจะเริ่มลดลง เนื่องจากภาครัฐให้การสนับสนุนลดลง โดยการให้อัตราการขายไฟน้อยกว่าในอดีต และเริ่มเข้มงวดกับกฏเกณฑ์มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนมือ

ด้านตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันมองว่าระดับ P/E ในปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน 3% จากเมื่อ 5 ปีก่อนที่ระดับ P/E ของตลาดหุ้นไทยต่ำกว่าตลาดหุ้นภูมิภาคที่ 6% ในขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีก่อนมีการติดลบมากกว่า 5% ทำให้ความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยลดลงไป อย่างไรก็ตามตลาดหุ้นไทยในปีนี้ยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องปัจจัยการเมืองที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้โอกาสเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติยังมีโอกาสน้อย แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการ QE จากธนาคารกลางยุโรป (ECB)

“Outlook ของตลาดหุ้นไทยยังมีความเสี่ยงด้านการเมืองที่เรายังต้องผ่านไปให้ได้ โดยต้องผ่าน Time line ของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และเข้าสุ่การเลือกตั้ง ซึ่งนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาถามเขาก็อยากรู้ว่าการเมืองเราจะนิ่งเมื่อไหร่ ในเรื่องเม็ดเงินจากต่างชาติที่จะเข้ามาตอนนี้ก็ยังมีโอกาสน้อยที่จะเข้ามา เพราะ P/E เราก็แพงกว่าภูมิภาค แม้ว่าจะมีการใช้ QE ของยุโรป แต่คาดว่าเงินจะไหลเข้าประเทศอินโด หรือฟิลลิปปินส์ไปมากกว่า"นายไพบูลย์ กล่าว

ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยในปีนี้คาดว่าจะไม่สามารถมีการปรับตัวขึ้นมาก เนื่องจากเศรษบกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ดี เนื่องจากโครงการใช้จ่ายของรัฐบาลที่จะนำไปลงทุนต่างๆจะมีความล่าช้า เนื่องจากการมีธรรมมาภิบาลสูง ทำให้มีความเข้มงวดในขั้นตอนการตรวจสอบต่างๆก่อนการอนุมัติ ประกอบกับภาคการส่งออกของไทยคาดว่ายังไม่สามารถมีการฟื้นตัวได้ เนื่องจากประเทศอื่นๆ อย่างเช่น สหรัฐนและญี่ปุ่น เริ่มมีการนำการผลิตกลับไปยังประเทศของตน เพื่อเวลาเกิดปัญหาเศรษฐกิจขึ้นจะสามารถมีการฟื้นตัวได้ง่ายซึ่งกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยไม่สามารถฟื้นตัวได้ อีกทั้งการขับเคลื่อนตลาดทุนไทยให้มีการเติบโตได้นั้นมองว่าภาครัฐไม่ควรสร้างอุสรรคให้เกิดขึ้น อย่างเช่น การออกฏเกณฑ์ที่เข้มงวด ทำให้เป็นอุปสรรคในการเติบโตของภาพรวมตตลาดทุนไทย

“ความก้าวหน้าของตลาดทุนไทย รวมไปถึงธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจนั้น ถ้าภาครัฐมีนโยบายต่างๆออกมาก็อยากให้มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่เลือกตั้งใหม่แล้วก็เปลี่ยนโยบายทุกครั้ง ทำให้ความไม่แน่นอนมีอยุ่ตลอด เป็นไปได้เราก็ไม่อยากให้นักการเมืองมาเปลี่ยนแปลงต่างๆ อยากให้นโยบายมีความชัดเจนและต่อเนื่องกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดทุนไทย รวมถึงธุรกิจอื่นๆด้วย"นายไพบูลย์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ