ขณะที่ตั้งงบลงทุนปีนี้ราว 1.3 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างและพัฒนาแล้ว รวมถึงการลงทุนในโครงการใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาและเจรจาร่วมทุน 9 โครงการทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดหมายความสำเร็จเบื้องต้นไว้ 6 โครงการ
"บริษัทตั้งเป้าหมายสร้างมูลค่ากิจการปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 1.33 แสนล้านบาท โดยมุ่งเน้นการลงทุนใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักในประเทศ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในประเทศ โรงไฟฟ้าในต่างประเทศ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องด้านพลังงาน"นายพงษ์ดิษฐ กล่าว
นายพงษ์ดิษฐ คาดว่ากำไรในปีนี้จะอยู่ระดับ 5.2 พันล้านบาท จาก 6.2 พันล้านบาทในปีที่แล้ว โดยปีนี้จะมีโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ รวมกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการร่วมทุนประมาณ 552 เมกะวัตต์ ซึ่งจะสร้างกำไรให้แก่บริษัทประมาณ 600 ล้านบาท โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา ในลาว ขนาด 1,878 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นอยู่ 40% จะเดินเครื่องยูนิตแรกในเดือนมิ.ย.58 ,ยูนิต 2 เดินเครื่องในเดือนพ.ย.58 และยูนิต 3 เดินเครื่องในเดือนมี.ค.59
โรงไฟฟ้าราชบุรีเวอลด์โคเจนเนอเรชั่น จ.ราชบุรี ขนาด 234 เมกะวัตต์ ซึ่งถือหุ้นอยู่ 40% จะเดินเครื่องผลิตยูนิตที่ 2 ในเดือนมี.ค.58 และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลา ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้นอยู่ 40%
อย่างไรก็ตาม แม้จะรับรู้กำไรจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แต่ภาพรวมกำไรทั้งปีนี้จะยังต่ำกว่าปีก่อน เนื่องจากอัตราค่าความพร้อมจ่ายจากโรงไฟฟ้าเก่าของบริษัทจะลดลงตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า อีกทั้งในปีที่ผ่านมามีกำไรจากรายการพิเศษอีกด้วย
สำหรับแผนการลงทุนในปีนี้จะใช้เงินลงทุนราว 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในโครงการเดิม 8 พันล้านบาท และโครงการใหม่ 5 พันล้านบาท ซึ่งจะมีทั้งการซื้อกิจการและร่วมลงทุน(M&A) หรือการลงทุนก่อสร้างโครงการใหม่(Greenfields) และการพัฒนาโครงการเดิมที่มีอยู่แล้ว(Brownfields)
ขณะที่ตามแผนพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะทำให้ในปีหน้ามีกำลังการผลิตใหม่ตามสัดส่วนร่วมทุนเพิ่มอีกราว 323 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าหงสา ยูนิต 3 ,โรงไฟฟ้านวนคร ที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 40% ,โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 โครงการในญีปุ่น คือ อูเอดะ(Ueda) และอิวากิ(Iwaki) ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 60%
ปัจจุบัน RATCH มีมูลค่ากิจการ 1.2 แสนล้านบาท มีกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 6,578 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังการผลิตที่เดินเครื่องแล้ว 5,566 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนาโครงการ 1,012 เมกะวัตต์ โดยมีการลงทุนในไทย ,ลาว ,ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
*แผนลงทุน
นายพงษ์ดิษฐ กล่าวว่า ตามเป้าหมายตามแผนกลยุทธ์ 10 ปี (ปี56-66) จะมีมูลค่ากิจการเพิ่มเป็น 2.82 แสนล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนร่วมทุน 9.7 พันเมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทคาดเบื้องต้นว่าจะใช้เงินลงทุนรวม 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และการกู้ยืมบางส่วน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ ไทย ,ลาว ,ออสเตรเลีย,ญี่ปุ่น,เวียดนาม,เมียนมาร์,อินโดนีเซีย ,ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย ,กัมพูชา และจีน
โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจาร่วมลงทุนประมาณ 9 โครงการทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน,โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ, โรงไฟฟ้าพลังน้ำ,โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ,โรงไฟฟ้าพลังงานลม ,โรงไฟฟ้าจากขยะ ,โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักอื่นๆ ,คลังก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ในเมียนมาร์ และเหมืองถ่านหิน ซึ่งบริษัทคาดหมายความสำเร็จเบื้องต้นจำนวน 6 โครงการ
"การลงทุนปีนี้เน้นเป้าหมายในประเทศ ประเทศเพื่อนบ้าน และอาเซียนเป็นสำคัญ เราสนใจลงทุนในสหภาพเมียนมาร์และอยู่ระหว่างการศึกษาและการเจรจาลงทุนในหลายโครงการ คาดว่าปีนี้จะเห็นความชัดเจนมากขั้น โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้ามะริด และโครงการคลังก๊าซ LNG"นายพงษ์ดิษฐ กล่าว
นายพงษ์ดิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับโครงการที่มีศักยภาพและมีความคืบหน้าสำคัญ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมะริด ขนาด 2,640 เมกะวัตต์ ที่บริษัทถือหุ้น 40% อยู่ระหว่างการสำรวจและพัฒนาโครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามบันทึกความตกลง(MOA) กับทางเมียนมาร์ได้ในช่วงต้นเดือนพ.ย.58 หลังจากนั้นก็จะมีการเจรจาเรื่องเงินกู้โครงการ และการขายไฟฟ้าให้กับไทยต่อไป
โครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักในต่างประเทศ ขนาด 2 พันเมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทจะถือหุ้น 20% นั้น คาดว่าจะมีการลงนามร่วมลงทุนกับกลุ่มผู้ถือหุ้นได้ไม่เกินเดือนมิ.ย.ปีนี้ ,โครงการคลัง LNG ในเมียนมาร์ จะเป็นการนำเข้า LNG ราว 5 ล้านตัน/ปี ซึ่งบริษัทจะถือหุ้น 20-30% ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มบมจ.ปตท.(PTT) เบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนราว 2-3 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาพัฒนาโครงการ 2 ปี โดยคาดว่า PTT จะนำเสนอรายละเอียดโครงการเข้าที่ประชุมคณะกรรมการในเดือนมี.ค. หลังจากนั้นคาดว่า PTT และบริษัทจะร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจเบื้องต้น(MOU) ได้ต่อไป
โครงการโรงไฟฟ้าจากขยะในประเทศ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในกลางปีนี้ จำนวน 2 โครงการ ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรในประเทศและต่างประเทศ มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 16 เมกะวัตต์ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ในญี่ปุ่น กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรในประเทศ โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งเบื้องต้นบริษัทมีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น ไม่น้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 20 เมกะวัตต์ใน 2 โครงการ
ส่วนความคืบหน้าในการขอต่ออายุโรงไฟฟ้าไตร เอนเนอจี้ (TECO) ที่จะหมดสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในปี 63 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการโดยยื่นเจรจาเพื่อขอต่ออายุกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)
นายพงษ์ดิษฐ กล่าวอีกว่า ปัญหาการที่แหล่งก๊าซธรรมชาติเยตากุน จากเมียนมาร์ เริ่มมีปริมาณก๊าซฯลดลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ และอาจจะส่งผลกระทบต่อก๊าซฯที่จะป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าราชบุรีของบริษัทนั้น เบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการแนวทางที่จะดำเนินการแก้ไข โดยเห็นว่าหากก๊าซฯจากเยตากุนหมดเร็วกว่าแผนภายใน 5-6 ปี ก็จะมีก๊าซฯจากแหล่งซอติก้า ในเมียนมาร์เข้ามาทดแทน และก็จะเร่งการพัฒนาคลัง LNG ในเมียนมาร์ให้แล้วเสร็จซึ่งจะช่วยลดผลกระทบดังกล่าวได้ แต่ในเบื้องต้นโรงไฟฟ้าดังกล่าวยังสามารถที่จะใช้น้ำมันเตา หรือน้ำมันดีเซลในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้