นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมสรุปการเจรจาร่วมทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นภายในไตรมาส 1/58 ขนาดราว 150 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันเตรียมดึงญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนผลิตแผงโซลาร์มูลค่าโครงการราว 100 ล้านบาทภายในปีนี้ พร้อมกันนั้น ยังจะร่วมทุนทำโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟในพม่าขนาดราว 5 เมกะวัตต์ จากนั้นจะพุ่งเป้าขยายกรลงทุนในฟิลิปปินส์อีกด้วย
นางสาววันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการใหญ่ SPCG เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ากำไรปี 58 จะทำสถิติสูงสุด หลังจากปีก่อนทำกำไรได้ 1,655.61 ล้านบาท และรายได้จะเติบโตแตะ 5,000 ล้านบาท จากปี 57 ที่มีรายได้ 4,410.72 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ครบ 36 โครงการ กำลังการผลิตรวม 260 เมกะวัตต์ (MW) เข้ามาเต็มที่เป็นปีแรก
ประกอบกับ คาดว่าในปีนี้จะมียอดขายแผงโซล่าราว 500-600 ล้านบาท จากปีก่อนมียอดขายราว 300 ล้านบาท หลังจากวางจำหน่ายสินค้าผ่านโมเดิร์นเทรด เริ่มจากโฮมโปร 77 สาขาทั่วประเทศ
"ปีนี้เรามองกำไรน่าจะเติบโตต่อเนื่อง หรือพูดได้ว่าจะทำนิวไฮ และรายได้ก็จะเติบโตแตะ 5,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯก็ยังมองหาการลงทุนเพิ่มเติม ทั้งการเข้าซื้อใบอนุญาตพลังงานแสงอาทิตย์ และการรุกทำโซล่ารูฟท็อป เพื่อรองรับ AEC ที่กำลังจะมาถึง"นางสาววันดี กล่าว
นางวันดี กล่าวว่า บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมเข้าประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภาครัฐจะออกมาใหม่ในช่วงเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งมีการกำหนดปริมาณรับซื้อไฟ 800 เมกะวัตต์ โดยบริษัทคาดหวังจะได้รับไม่ต่ำกว่า 200 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้มีที่ดินเปล่าสามารถรองรับโครงการถึง 5,000 ไร่ และมีเงินสดในมืออยู่อีก 3,000 ล้านบาท มีความพร้อมรองรับการลงทุน
นอกจากนี้ บริษัทยังสนใจซื้อใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของผู้ประกอบการรายเดิมที่ยังไม่ได้เริ่มโครงการ คาดว่าจะเหลืออยู่ราว 1,000 เมกกะวัตต์ โดยขณะนี้ก็อยู่ระหว่างเจรจากับหลายราย คาดหวังจะได้ราว 15 เมกะวัตต์ ซึ่งจะพิจารณาจากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด
พร้อมกันนี้ บริษัทยังเดินหน้าขยายธุรกิจในต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้การเจรจาร่วมทุนกับพันธมิตรในโครงการโซล่าฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่นคาดว่าจะสรุปได้ภายในไตรมาส 1/58 และจะเริ่มก่อสร้างได้ช่วงไตรมาส 2/58 มีขนาดกำลังผลิตราว 150 เมะวัตต์ และบริษัทยังสนใจลงทุนทำโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาในพม่าด้วย โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรท้องถิ่น คาดว่าจะสรุปได้ภายในปีนี้ เบื้องต้นจะมีกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ จากนั้นจะมองการลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ต่อไป
นางวันดี กล่าวอีกว่า บริษัทยังสนใจขยายธุรกิจไปสู่การเป็นผู้ผลิตแผงโซล่าร์ที่ติดตั้งบนหลังคา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรจากญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในปีนี้ มูลค่าโครงการประมาณ 100 ล้านบาท กำลังการผลิตราว 10 เมกกะวัตต์ในปีแรก และจะขยับขึ้นเป็น 100 เมกกะวัตต์ภายใน 5 ปี เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) เพราะมองว่าประเทศเพื่อนบ้านยังมีความต้องการใช้แผงโซลาร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกมาก