"ยอดขายของบริษัทในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.นี้ โดยรวมมีการเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากช่วงม.ค. -ก.พ. ของปีที่แล้วฐานยอดขายต่ำ จากปัญหาการเมือง แต่ยอดขายในช่วงที่ผ่านมานี้ก็ยังถือว่าฟื้นขึ้นมาไม่มากนัก มองว่าจะเป็นการค่อยๆฟื้นตัวมากกว่า ส่วนตลาดบ้านและคอนโดฯในปีนี้ที่ดีๆน่าจะเป็นตลาดบนมากว่าตลาดกลาง-ล่าง แต่การหาที่ทำโครงการตลาดบนๆก็ยากมากเหมือนกัน เราก็พยายามหันมาทำตลาดบนมากขึ้นเพื่อไห้สอดคล้องกับทิศทางตลาด ซึ่งลูกค้าตลาดบนนั้นมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อต่ำกว่าลูกค้าตลาดกลาง-ล่าง"นายชายนิด กล่าว
สำหรับงบลงทุนในปีนี้บริษัทตั้งไว้ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น งบสำหรับการใช้ก่อสร้าง 8-9 พันล้านบาท และงบซื้อที่ดิน 2 พันล้านบาท โดยงบซื้อที่ดินจะลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ เนื่องจากบริษัทมีที่ดินเปล่าในมืออยู่เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้ มีการพัฒนา ก็จะเริ่มนำมาใช้ในการพัฒนาเพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทมากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมในปีนี้อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1.29 หมื่นล้านบาท หลังมีการควบรวมกิจการกับบมจ.ไทยพร็อพเพอร์ตี้ (TPROP) และบมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทล แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) โดยจะมีรายได้จาก 2 บริษัทดังกล่าวเข้ามาอีก 2 พันล้านบาท และรายได้ของ PF 1.8 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทวางเป้าหมายในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 60 จะมีรายได้แตะ 3 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทมีแผนการขยายการลงทุนใน GRAND เพิ่มขึ้น ด้วยการขยายการลงทุนในธุรกิจโรงแรมเพิ่มเป็น 1,500 ห้อง จากปัจจุบัน GRAND มีโรงแรม 4 แห่ง รวม 930 ห้อง รวมถึงการเจาะตลาดคอนโดมิเนียมในเขตย่านธุรกกิจ(Central Business District:CBD) เพิ่มอีกปีละ 1-2 โครงการ จากปัจจุบันมีคอนโดมิเนียมในเขต CBD อยู่ 2 โครงการ ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนการพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส เป็นที่อยู่อาศัยและโรงแรมรีสอร์ทในเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ พัทยา หัวหิน ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งจะทำให้ GRAND มีรายได้จากธุรก้บอสังหาริมทรัพย์และรายได้ประจำจากธุรกิจโรงแรม
นายชายนิด กล่าวว่า สิ้นปี 57 บริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) อยู่ที่ 6 พันล้านบาท แบ่งเป็น โครงการคอนโดมิเนียม 5.3 พันล้านบาท และโครงการแนวราบ 700 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ปีนี้ 3 พันล้านบาท แบ่งเป็นการรับรู้รายได้ของโครงการคอนโดมิเนียม 2.3 พันล้านบาท และรับรู้รายได้จากโครงการแนวราบทั้งหมด 700 ล้านบาท ส่วนในปี 59-60 จะทยอยรับรู้รายได้ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 2 พันล้านบาท และ 1 พันล้านบาท ตามลำดับ
ในด้านอัตรากำไรสุทธิของบริษัทปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 10% จาก 4% ในปีที่แล้ว เนื่องจากคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 34% จาก 32% ในปีก่อน จากการโอนโครงการคอนโดมิเนียมซึ่งมีมาร์จิ้นสูง เป็นจำนวนมากขึ้น ขณะที่มาร์จิ้นของโครงการแนวราบเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปีนี้ ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ลดต้นทุนวัสดุอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้าง โดยการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ทำให้บริษัทสามารถประหยัดต้นทุนในส่วนนี้ได้ราว 200 ล้านบาท/ปี
อีกทั้งบริษัทจะนำที่ดินเปล่าที่อยู่ในมือเป็นจำนวนมากนำมาขายส่วนหนึ่งและนำมาพัฒนาโครงการ ทำให้สามารถสร้างรายได้และลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่าย ซึ่งบริษัทสามารถประหยัดต้นทุนในส่วนนี้ได้ 300-500 ล้านบาท/ปี และการที่โรงแรมคิโรโระ ที่ประเทศญี่ปุ่นในปีนี้จะมีผลการดำเนินงานคุ้มทุน จากปีก่อนมีผลขาดทุนกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยข้างต้นนั้นจะส่งผลเชิงบวกต่อการปรับตัวขึ้นของอัตรากำไรสุทธิในปีนี้ของบริษัท
นายชายนิด กล่าวว่า สำหรับการหาพันธมิตรเข้ามาถือหุ้นในบมจ.วีรีเทล (WR) ที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ราว 93% นั้น เชื่อว่าจะ เป็นการเสริมสร้างศักยภาพให้กับบริษัทดังกล่าว และช่วยเหลือด้านศักยภาพในการลงทุนโครงการห้างค้าปลีกบริเวณห้างจัสโก้ รัชดาภิเษกเดิม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีแผนการลงทุนโครงการห้างค้าปลีกในย่านดังกล่าวกว่า 1 หมื่นล้านบาท
โดยบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนใน WR ซึ่งแบ่งเป็นพันธมิตรในประเทศ 2 ราย พันธมิตรต่างประเทศ 2 ราย ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงปลายไตรมาส 2/58 โดยพันธมิตรที่เข้ามาจะมีสัดส่วนการถือหุ้นไม่เกิน 40% หรือคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 2 พันล้านบาท นอกจากนี้บริษัทมีแผนการจัดตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) ภายในไตรมาส 4/58 มูลค่า 500 ล้านบาท โดยจะใช้หอพัก Uni loft เชียงใหม่เป็นสินทรัพย์อ้างอิง และอยู่ระหว่างการศึกษาการนำกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เดิมที่นำหอพัก Uni loft ศาลายา เข้าไปขายซึ่งมีมูลค่ากองทุน 500 ล้านบาท เข้ารวมกับกอง REIT ใหม่ เพื่อทำให้มูลค่ากอง REIT สูงขึ้นเป็น 1 พันล้านบาทด้วย
ขณะที่ในปี 59 ยังมีแผนจะตั้งกอง REIT มูลค่า 2.8-3.0 พันล้านบาท โดยจะนำโรงแรมเชอราตันหัวหินและโรงแรมคิโรโระ ที่ประเทศญี่ปุ่นมาเป็นสินทรัพย์อ้างอิง โดยจะนำเงินไปใช้ขยายการลงทุนโรงแรมในประเทศไทย เช่น พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต และกระบี่ ประกอบกับการลงทุนโรงแรมในญี่ปุ่นเพิ่มเติม เพื่อทดแทนโรงแรมคิโรโระที่นำสินทรัพย์เข้ากอง REIT ด้วย
นายชายนิด กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการเข้าซื้อกิจการ TPROP และ GRAND นั้น บริษัทจะใช้เงินในการทำคำเสนอซื้อรวม 4.02 พันล้านบาท ซึ่งมาจากกระแสเงินสดที่ปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 2 พันล้านบาท และการเพิ่มทุนซึ่งคาดว่าจะระดมทุนได้กว่า 1.9 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะมาจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ทั้งนี้บริษัทคาดว่ากระบวนการทั่งหมดจะเสร็จสิ้นไม่เกิน สิ้นเดือนก.ค.นี้ และจะทำให้มูลค่าสินทรัพย์ของ PF เพิ่มเป็น 4.34 หมื่นล้านบาท จากสิ้นปีก่อนที่ 3.13 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทประเมินรายได้ในปี 59 จะเติบโตขึ้น 20% จากปีนี้มาอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท จากการที่มีสินทรัพย์ของ TPROP และ GRAND เข้ามาส่งเสริมรายได้ของบริษัท "เรามองผลกระทบจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น PF บนกระดาน อย่างมาก 5% หลังมีแผนการเพิ่มทุน อีกทั้งเราก็กังวลเกี่ยวกับการทำคำเสนอซื่อหุ้น GRAND ว่าผู้ถือหุ้น GRAND อาจจะไม่มาขายให้เราเพราะราคาบนกระดานที่ 2 บาท นั้นสูงกว่าราคาที่เราทำเสนอซื้อที่ 1.35 บาท แต่หลังจากทำคำเสอนซื่อหุ้น TPROP แล้วภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ งบของ TPROP ซึ่งมีส่วนของ GRAND ด้วยก็จะมารวมกับงบกับของ PF"นายชายนิด กล่าว PF ปรับแผนการซื้อกิจการ TPROP และ GRAND เป็นการซื้อด้วยเงินสด จากเดิมจะใช้วิธีแลกหุ้น โดยบริษัทได้ประกาศเพิ่มทุนใหม่ 1.94 พันล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท ซึ่งจะจัดสรรไม่เกิน 1.93 พันล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม 3 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ 1 บาท กำหนดวันจองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 8-12 มิ.ย. สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้มองว่าตลาดรวมจะเติบโตที่ 5% และแข่งขันกันระหว่างผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่จะมีความรุนแรงมากขึ้น จากการเปิดตัวโครงการใหม่ที่มากขึ้นในปีนี้ ส่วนกำลังซื้อคาดว่าจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้น โดยในช่วงต้นปียังจะไม่เห็นการฟื้นตัวที่ดี แต่ในช่วงกลางปี-ครึ่งปีหลัง หากไม่มีปัจจัยการเมืองที่วุ่นวายเข้ามากระทบกับเศรษฐกิจ ประกอบกับราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มลดลง จะช่วยให้กำลังซื้อภาคครัวเรือนดีขึ้น จากรายได้ของภาคครัวเรือนกลับมาดีขึ้นและค่าใช้จ่ายที่ลดลงจากราคาน้ำมันลดลง และส่งผลต่อหนี้สินภาคครัวเรือนอาจจะลดลงจากปัจจุบันที่อยู่ในระดับสูง