"เดือนมีนาคมก็จะมีการเซ็นสัญญา คิดว่าเป็นจุด takeoff ที่สำคัญของรัฐบาลไทยและญี่ปุ่นที่มีแนวนโยบายสนับสนุนโครงการดังกล่าว"นายสมเจตน์ กล่าว
เมื่อเดือน ก.พ.58 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ระบุว่าในเดือนมี.ค.นี้ จะให้มีการลงนามระหว่างรัฐบาลเมียนมาร์กับเอกชนไทยที่เป็นกลุ่ม Joint venture ประกอบด้วย ITD และ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ที่จะได้รับสัมปทานดำเนินธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมทวายเฟสแรก ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ให้ความสนใจต่อการพัฒนาโครงการทวายด้วย
นายสมเจตน์ กล่าวว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย ถ้ามีการดำเนินการเต็มพื้นที่จะอยู่ระดับ 210 ตร.กม. แต่จะมีการดำเนินการเบื้องต้นที่ 27 ตร.กม.ก่อน โดยคาดว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมฯจะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในเมียนมาร์ และจำหน่ายสินค้าในเมียนมาร์ และอาจจะมีการส่งออกไปยังประเทศข้างเคียง หรืออาเซียน
ขณะเดียวกันก็จะมีการวางระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมฯ ท่าเรือขนาดเล็ก ที่จะรองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) อ่างเก็บน้ำ รวมถึงยังมีระบบถนนที่เชื่อมต่อเข้าไปในพื้นที่นิคมฯด้วย โดยเฉพาะการก่อสร้างถนนระยะทาง 130 กิโลเมตร จากบริเวณพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี ไปยังในเมียนมาร์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนตั้งแต่ระดับ 3.5 พันล้านบาทถึง 1.3 หมื่นล้านบาท ขึ้นกับขนาดและคุณภาพของถนน
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการสร้างถนนนั้นเห็นว่าควรต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เอกชนมั่นใจในการลงทุน และอาจจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากทางญี่ปุ่นด้วย