การลงนามในบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกในการออกและเสนอขายตราสารทุนและตราสารหนี้แบบไม่ซับซ้อนพร้อมกันในกลุ่มประเทศที่เป็นภาคี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามแผนปฏิบัติการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนขอกลุ่มหน่วยงานกำกับตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum’s Implementation Plan) ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนเมื่อปี 2552
นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การลงนามใน MOU ครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จของกลุ่มหน่วยงานกำกับตลาดทุนอาเซียนในการส่งเสริมการระดมทุนและยกระดับตราสารทางการเงินในภูมิภาคให้เป็นที่ยอมรับของนักลงทุนทั่วโลก (ASEAN asset class) ซึ่งข้อตกลงนี้จะปูทางสู่การเชื่อมโยงตลาดทุนในอาเซียนและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นสามประเทศแรกในอาเซียนที่ลงนามใน MOU และคาดหมายว่าในอนาคตก็จะมีประเทศสมาชิก ACMF มาเข้าร่วมลงนามได้อีกเพิ่มเติม"
ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ผู้ออกหลักทรัพย์จะต้องเปิดเผยข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานกลางอาเซียนที่ได้ประกาศใช้ร่วมกัน (ASEAN disclosure standards) โดยประเทศที่ทำหน้าที่หลักในการกำกับดูแล (Home Authority) จะพิจารณาคุณสมบัติและความครบถ้วนของข้อมูลที่เปิดเผย ประสานงานกับหน่วยงานกำกับดูแลในอีกประเทศหนึ่งที่จะมีการเสนอขายหลักทรัพย์พร้อมกัน (Host Authority) และแจ้งผลการพิจารณาภายใน 3-4 เดือนนับจากวันที่ยื่นคำขอและเอกสารครบถ้วน ซึ่งกระบวนการพิจารณาอนุญาตที่รวดเร็วขึ้นและลดความซ้ำซ้อนนี้จะช่วยให้ผู้เสนอขายหลักทรัพย์สามารถวางแผนงานการเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ การอนุญาตการเสนอขายหลักทรัพย์หรือขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ระหว่างกันในอาเซียนนี้จะเริ่มได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยระหว่างนี้ ACMF จะร่วมกันจัดทำคู่มือเพื่อเป็นแนวทางให้แก่ภาคเอกชนเกี่ยวกับการบริหารจัดการในด้านต่างๆ กระบวนการพิจารณา กรอบระยะเวลา และคุณสมบัติของผู้เสนอขายหลักทรัพย์