บลจ.วรรณ ออกทาร์เก็ตฟันด์ JAPAN เป้าผลตอบแทน 5% IPO 27 ก.พ.-11 มี.ค.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 5, 2015 15:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ กล่าวว่า บลจ.วรรณ เสนอขายกองทุนเปิด เจแปน 5/2 ฟันด์ ในช่วงระหว่างวันที่ 27 ก.พ.-11 มี.ค. 58 โดยมีเป้าหมายการสร้างโอกาสผลตอบแทน 5% ภายในเวลา 5 เดือน โดยเน้นลงทุนในกองทุน ETF ที่สร้างผลตอบแทนตามการปรับตัวของดัชนี NIKKEI225 ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ประมาณ 80% ของพอร์ตการลงทุนและลงทุนในกองทุน ETF ที่สร้างผลตอบแทนตามการปรับตัวของดัชนี JPX Nikkie400 ซึ่งเป็นหุ้นที่มีการเติบโตที่ค่อนข้างดีอีกประมาณ 20% โดยผู้จัดการกองทุนจะปรับการลงทุนไปตามสถานการณ์เพื่อให้สอดคล้องกับภาพการลงทุนในขณะนั้นๆ และเพื่อให้กองทุนได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายของกองทุน

ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นในช่วงต้นปีแกว่งตัวผันผวน แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงเดือน มี.ค. ตามการคาดการณ์ ส่งผลให้กองทุน ONE-JP5 ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 16 ม.ค. สามารถปิดกองทุนตามเป้าหมาย 5% ในวันที่ 5 มี.ค.58 โดยใช้เวลาเพียง 1 เดือนเศษ ในการสร้างผลตอบแทน 5% ให้กับผู้ลงทุน ทั้งนี้ ยังมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อและอาจมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบที่ระดับ 20,050 จุดในช่วงปีนี้ได้

นายวิน มองว่า ปีนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากในแง่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นปีนี้น่าจะมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงปีก่อนเติบโตได้เพียงเล็กน้อยจากแรงฉุดรั้งของการบริโภคและการใช้จ่ายภาคเอกชนหลังจากที่ทางการญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราภาษีบริโภค (VAT) ในช่วงเดือนเม.ย. 57

แต่อย่างไรก็ดี ด้วยนโยบายของทางการญี่ปุ่นที่ตัดสินใจชะลอการปรับขึ้นภาษี VAT ในปี 2558 ออกไป ประกอบกับตลาดแรงงานที่ส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นก็น่าจะสนับสนุนให้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศทยอยเข้าสู่การฟื้นตัวได้ในช่วงถัดไป ขณะที่การอ่อนค่าของเงินเยนจากการดำเนินมาตรการ QE ของธนาคารกลางญี่ปุ่นจำนวนมหาศาลในช่วงที่ผ่านมาก็ส่งผลบวกให้การส่งออกญี่ปุ่นเริ่มกลับมาขยายตัวได้ ซึ่งตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือน ม.ค. 58 ที่ออกมาก็ยังบ่งชี้ถึงการขยายตัวได้ดีกว่าคาดอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงที่ยังขยายตัวได้ต่ำกว่าคาดจากราคาพลังงานที่ลดลง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้คาดว่าทางการญี่ปุ่นยังจำเป็นที่ต้องอัดฉีดนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงถัดไป โดยเฉพาะการสานต่อและผลักดันนโยบายภายใต้ลูกศร 3 ดอก โดยครอบคลุมถึงนโยบายการเงินผ่านการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณ (QE) นโยบายการคลังผ่านการปรับลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลและการอนุมัติงบประมาณและนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ยั่งยืนผ่านการสร้างเขตการค้าเสรี (TPP) / การทำ Privatization / การปฏิรูปตลาดแรงงาน เป็นต้น

ขณะที่ในแง่ของการลงทุน ยังมีปัจจัยบวกที่ทำให้ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนอยู่เช่นกัน ทั้งในส่วนของบริษัทจดทะเบียนฯ ที่ยังมีความน่าสนใจจากแนวโน้มผลประกอบการและยอดขายของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 4/57 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด หลังเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวในช่วงสิ้นปี / ค่าเงินที่อ่อนค่าลง / อานิสงส์ของราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ และการสนับสนุนในส่วนของธรรมาภิบาลบริษัทให้มีความโปร่งใสมากขึ้น รวมทั้งบริษัทต่างๆ มีการจ่ายคืนผลตอบแทนสู่นักลงทุนมากขึ้นในรูปของเงินปันผลและการซื้อหุ้นคืน (Share Buyback) ทำให้ล่าสุดนักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการผลประกอบการบริษัทเพิ่มขึ้น ประกอบกับอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) ในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวได้ดีและมีการคาดการณ์ว่าบริษัทส่วนใหญ่จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับแรงผลักดันของทางการญี่ปุ่นที่สนับสนุนให้นักลงทุนทั้งสถาบันและรายย่อยลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มเติม ทั้งการปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการญี่ปุ่น (GPIF) และโครงการ NISA ซึ่งยกเว้นภาษีกำไรให้นักลงทุน รวมทั้งสัดส่วนของการเข้าลงทุนของนักลงทุนรายย่อยที่เริ่มมีความสนใจในตลาดหุ้นแม้จะยังไม่มากนัก เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่นิยมการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ในสัดส่วนที่สูง แต่ก็ทำให้ประเมินได้ว่าหากมีการเร่งผลักดันของทางการอย่างจริงจังและหากมีการย้ายเงินมาลงทุนในหุ้นเพิ่มเติมแล้วนั้น จะทำให้มีโอกาสเพิ่มปริมาณเงินและจำนวนนักลงทุนรายย่อยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นได้อีกมากทำให้คาดว่าในหุ้นญี่ปุ่นยังคงเป็นหุ้นที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนในระยะถัดไป

ในส่วนของมูลค่าหุ้น แม้ว่าในช่วงนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากหลายปัจจัยทั้งค่าเงินเยนที่อ่อนค่าและการประกาศผลประกอบการที่ออกมาดีกว่าคาด ซึ่งผลักดันให้ระดับราคาหุ้นต่อกำไร (PE) สูงกว่าระดับค่าเฉลี่ยช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จนนักลงทุนบางกลุ่มอาจกังวลว่าราคาหุ้นอาจสูงเกินไปที่จะลงทุนหรือไม่ แต่ผมมองว่าการที่ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ มาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่การฟื้นตัวและการเร่งผลักดันนโยบายต่างๆ ของทางการญี่ปุ่น โดยเฉพาะหลังจากที่นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้รับคัดเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งจึงทำให้นักลงทุนหันมาให้ความสนใจในตลาดหุ้นญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาที่นักลงทุนยังไม่ได้ให้ความสนใจกับตลาดหุ้นมากนักเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนด้านเศรษฐกิจและนโยบายการแก้ปัญหาของภาครัฐ รวมทั้งเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้น (ROE) แล้วนั้นก็ยังนับได้ว่าต่ำกว่าระดับ ROE รวมทั้งยังคงต่ำกว่าระดับ PE ที่สูงสุดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

ประกอบกับปัจจัยบวกข้างต้นทำให้มองว่าราคาหุ้นในปัจจุบันยังคงไม่แพงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และหากเทียบกับความผันผวนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ปรับลดลงในขณะนี้ก็นับได้ว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังคงมีความน่าสนใจและมีโอกาสปรับตัวต่อไปได้ ซึ่งก็สอดคล้องกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่คาดว่าดัชนี NIKKEI225 น่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อแตะระดับ 20,050 จุดในปลายปี 2558 นี้ ระหว่างทางบ้างตามกระแสข่าวต่างๆ ทำให้มองว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับกองทุนรวมประเภท Target Fund


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ