ทั้งนี้ รูปแบบการลงทุนจะเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในลักษณะการร่วมทุน(Joint Venture) เพื่อทำโครงการโรงไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 100 เมกะวัตต์ (MW)ภายในปี 60 ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้า 10 แห่ง แห่งละ 10 เมกะวัตต์ เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในเรื่องต่างๆหลังจากที่บริษัทได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเบื้องต้น(MOU) ร่วมกับพันธมิตร คาดหวังว่าจะเห็นโครงการแรกภายในครึ่งแรกปีนี้
"ปัจจุบันเราอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรเพื่อเข้าไปร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าทั้งจากพลังงานขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเราคงจะได้เซ็น MOU เร็วๆนี้ หลังจากนั้นก็คงจะสามารถบอกได้ว่าเราจะถือหุ้นในสัดส่วนเท่าไหร่ และจะเริ่มอย่างไร สำหรับสาเหตุที่เราเข้ามาสนใจการลงทุนในพลังงานทดแทนก็เพราะว่า เป็นธุรกิจที่มีรายได้อย่างสม่ำเสมอ และยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย ขณะเดียวกันยังเป็นการช่วยการจายความเสี่ยงทางธุรกิจของบริษัท เราศึกษามาประมาณ 1 ปีแล้ว"นายอุชัย กล่าว
นายอุชัย กล่าวต่อว่า สำหรับแหล่งเงินลงทุนที่จะใช้ในการลงทุนมาจากการออกหุ้นกู้ในวงเงินไม่เกิน 300 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการบริษัทได้มีมติอนุมัติให้ออกหุ้นกู้เพื่อนำเงินไปขยายธุรกิจ คาดว่าหลังออกหุ้นกู้บริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ราว 2 เท่าจาก 0.5 เท่าในปัจจุบัน นอกจากนี้ในอนาคตบริษัทอาจจะพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมารองรับแผนการลงทุนด้านพลังงานทดแทนด้วย
นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนลงทุนติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)ของอาคารโรงงานกำลังการผลิตไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ เพื่อนำไฟฟ้ามาใช้ในโรงงานของบริษัท ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอสรุปเงื่อนไขการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) คาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนค่ากระแสไฟฟ้าที่คิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ และจะช่วยผลักดันให้มีกำไรเพิ่มขึ้นด้วย