ทั้งนี้ ผลการเจรจารถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือเป็นรายสัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) ราคากลาง 15,284,924,844.86 บาท บรมจ.อินตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ตกลงราคาที่ 15,269,000,000 บาท สัญญาที่ 2 (ช่วงสะพานใหม่-คูคต) ราคากลาง 6,659,991,127.04 บาท กลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture (บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (UNIQ) และ SINOHYDRO CORPORATION LIMITED และ CHINA HARBOUR ENGINEERING COMPANY LIMITED ตกลงราคาที่ 6,657,000,000 บาท
สัญญาที่ 3 (งานก่อสร้างศูนญ์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร) ราคากลาง 4,029,567,257.11 บาท กลุ่ม STEC-AS Joint Venture (บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด ตกลงราคาที่ 4,019,000,000 บาท สัญญาที่ 4 (งานจ้างออกแบบควบคู่การก่อสร้างระบบราง ราคากลาง 2,867,796,694.73 บาท กลุ่ม STEC-AS Joint Venture ตกลงราคาที่ 2,841,000,000 บาท
ส่วนความคืบหน้าการโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) นั้น พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้หารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยให้กทม.ไปจัดทำข้อเสนอด้านค่าใช้จ่ายที่รฟม.ได้ลงทุนก่อสร้างไปแล้ว ประมาณ 19,000 ล้านบาท ว่าจะใช้คืนรฟม.อย่างไร ซึ่งถือเป็นประเด็นหลักที่รฟม.จะพิจารณาข้อเสนอของกทม. นอกจากนี้ทางกทม.จะต้องไปหาข้อสรุปในเรื่องข้อกฎหมายในการก่อสร้างและเดินรถนอกพื้นที่กทม. เมื่อได้คำตอบจะมีการเจรจากันอีกรอบ ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่า จะให้กทม.รับไปดำเนินการ100% หรือไม่แต่แนวทางเบื้องต้นตรงกันแล้วคือ ต้องการให้เดินรถต่อเนื่อง ซึ่งหากรฟม.ดำเนินการเองจะต้องเจรจากับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.บีที่เอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง (BTS) ซึ่งจะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ในขณะที่หากโอนให้กทม. จะมีความรวดเร็วมากกว่า เพราะกทม.มีสัญญากับ BTS อยู่แล้ว สามารถเจรจากับ BTS ได้เลย
นอกจากนี้ บอร์ดยังได้รับทราบผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ตรวจสอบว่ามีผู้บริหารรฟม.เปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย สถานีสนามไชย-ท่าพระ ส่งผลให้รฟม.ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 290 ล้านบาท ชุดที่มีนายไกร ตั้งสง่า กรรมการรฟม.เป็นประธานโดยสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระก่อสร้างนั้นมีความจำเป็น ซึ่งตรงกับกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดที่นายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าฯรฟม. แต่งตั้ง โดยมีนาย นายสราวุธ เบญจกุล เป็นประธานเพราะ เป็นการปรับวิธีก่อสร้างเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับพื้นที่โดยรอบและไม่ทำให้โครงการก่อสร้างหยุดชะงัก นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาร่วมของทีมที่ปรึกษาทั้ง PMC และ CSC เห็นควรให้เปลี่ยนแปลงวิธีการก่อสร้าง และได้พิจารณาว่าเห็นควรต้องชดเชยเงินให้ผู้รับเหมา และได้นำเสนอบอร์ดรฟม.เห็นชอบแล้ว ถือว่า รฟม.ทำถูกต้อง ในการเปลี่ยนแปลงสัญญาและจ่ายเงินชดเชยให้ผู้รับเหมา
และหลังจากนี้ รฟม.จะทำหนังสือชี้แจงไปยังสตง. และหากสตง.ไม่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม ก็จะสามารถลงนามสัญญาจ้างนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่ารฟม. เป็นผู้ว่าฯรฟม.คนใหม่ได้เร็วๆนี้