(เพิ่มเติม) BTS ชิงงานเดินรถ 6 เส้นทางลงทุน 1.2 แสนลบ ดันรายได้ทะลุ 1 หมื่นลบ./ปี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 9, 2015 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) คาดว่าบริษัทจะได้งานบริหารเดินรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 118.5 กม. ใช้งบลงทุน 1.23 แสนล้านบาท ในช่วง 5 ปีนี้ (ปี 58-62) ทำให้บริษัทจะมีรายได้จากการเดินรถได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาทในปี 61 เติบโตจาก 1.7 พันล้านบาทในงวดปี 57/58 (เม.ย.57-มี.ค.58) ซึ่งเดินรถระยะทางรวม 36.3 กม. โดยปีนี้คาดว่าจะงานเดินรถ 3 เส้นทาง คือ สายสีเขียวใต้ สายสีเทา และ LRT พร้อมเตรียมเข้าร่วมประมูลบริหารตั๋วร่วมภายในปีนี้ที่มีโอกาสต่อยอดธุรกิจได้อีก

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร ของ BTS และผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งเป็นบริษทย่อย BTS เปิดเผยว่า บริษัทได้เตรียมเงินทุนสำหรับงานบริหารเดินรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ 6 เส้นทางดังกล่าวไว้แล้ว โดยมาจากเงินสดในมือกว่า 3 หมื่นล้านบาท , เงินที่ระดมทุนได้จากการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ(วอร์แรนต์) ที่มีอายุ 3 ปี หรือภายในปี 61 จะมีวงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท รวมถึงยังมีความสามารถกู้ได้อีกราว 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าหากบริษัทได้งานเดินรถ 6 เส้นทาง ระยะทาง 118.5 กิโลเมตร(กม.) จะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มเข้าระบบบีทีเอส 1 ล้านคน/วัน ผลักดันให้รายได้จากการเดินรถสูงเพิ่มขึ้นมาเป็นมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่เดินรถ ระยะทาง 36.3 กม. ที่คาดว่าจะทำให้รายได้จาการเดินรถในปี 57/58 อยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท

"หากมีการเดินรถ 6 เส้นทางจะทำรายได้จากการเดินรถได้มากกว่า 1 หมื่นล้านบาท การรับจ้างเดินรถก็มีข้อดีที่มีความเสี่ยงน้อย แต่ข้อเสียไม่มีอัพไซด์ แม้ว่าผู้โดยสารมากกว่านี้ไม่มีการจ่ายเงินเพิ่ม แต่วิธีนี้ก็ดีกว่าการใช้วิธี PPP ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 9 เดือน"นายสุรพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้า 6 เส้นทางใหม่ ได้แก่ (1)รถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง -สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม. ซึ่งขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างเจรจาโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ให้กับกรุงเทพมหานคร(กทม.) จากนั้น บริษัทจึงจะเจรจากับกทม.ในการรับจ้างเดินรถต่อไป เนื่องจาก BTS เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่แล้ว บริษัทคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญารับจ้างบริหารเดินรถกับกทม.ประมาณในไตรมาส 3/58 ซึ่งล่าช้าเล็กน้อยจากไตรมาส 2/58

BTS ประเมินว่า จะลงทุนรถไฟฟ้า 15 ขบวน 4 ตู้ เงินลงทุนประมาณ 9 พันล้านบาท หรือไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท รองรับเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ และคาดว่าจะสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มเติม 7 ขบวนรองรับเส้นทางเดินรถในคราวเดียวกัน โดยปัจจุบันมีรถไฟฟ้ารองรับอยู่ 52 ขบวน 4 ตู้

เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปรากการ จะเปิดให้บริการในปี 61-62 หากบริษัทได้เข้ามาดำเนินการจะใช้เวลาดำเนินการราว 2 ปีครึ่ง หากใช้สเป็กเดิม จะเร่งงานเชื่อมระหว่างสถานีสำโรงกับสถานีแบริ่ง ให้เสร็จเป็นสถานีแรก ซึ่งใช้เวลา 1 ปีครึ่งหรือแล้วเสร็จต้นปี 61 ซึ่งก็จะทำให้สามารถเปิดบริการได้ก่อน เพราะเป็นสถานีสำคัญมีคนใช้จำนวนมาก และคาดว่าจะเปิดได้เต็มที่ปลายปี 61 หรือต้นปี 62 ซึ่งขึ้นกับงานโยธาว่าจะเสร็จช้าหรือเร็วแค่ไหน ทั้งนี้ กทม.คาดว่า เส้นทางนี้จะมีจำนวนผู้โดยสาร วันละ 1 แสนคน ซึ่งบริษัทคาดว่าในช่วงแรกจะมีผู้โดยสารใหม่เข้าระบบ 20-30% หลังจาก 2-3 ปีจะมีจำนวนเพิ่มใกล้เคียงที่กทม.คาดการณ์ (2) เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิด-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กม. คาดว่าจะมีข้อสรุปและเซ็นสัญญาการก่อสร้างโยธาภายกลางปี 58 และ BTS คาดว่าจะมีโอกาสได้รับเลือกให้เป็นผู้บริหารการเดินรถส่วนต่อขยายเส้นทางนี้ มีแผนเปิดให้บริการในปี 62

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท ที่จะลงทุนระบบไฟฟ้า ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบตั๋ว และตัวรถไฟฟ้าที่คาดจะใช้ 20-21 ขบวน หากสรุปได้เร็วจะสั่งซื้อในคราวเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ทั้งนี้ กทม.คาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเข้าเส้นทางนี้ เกินกว่า 2 แสนคน/วัน

(3) ระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT) เส้นทางจากบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.3 กม.มูลค่าโครงการ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ กทม.เป็นผู้ดำเนินการ บริษัท คาดว่าจะมีการประมูลเส้นทางนี้ในปีนี้ โดยขณะนี้ผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จแล้ว พร้อมกับการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(EIA) เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยรอนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ( ครม.) โดยเฟสแรก เริ่มจากบางนา-โครงการธนาซิตี้(ของBTS) ระยะทาง 15 กม. รวมศูนย์ซ่อมบำรุงที่ธนาซิตี้ด้วยซึ่งธนาซิตี้ให้ใช้ที่โดยไม่คิดมูลค่า มีมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท

เฟสสองจาก ธนาซิตี้-สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งรอการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารแห่งที่ 2 เสร็จก่อนจะมีการก่อสร้างเฟสสอง ทั้งนี้หากครม.อนุมัติแล้วก็จะเข้าสู่การพิจารณาเพื่ออนุมัติของสภากทม. จึงคาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มงานก่อสร้าง และจะเปิดให้บริการในปี 61 โดยเส้นทางนี้ จะเชื่อมต่อสถานีบางนา ในปัจจุบันที่เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ และหากบริษัทได้เดินรถเส้นทางนี้ก็สามารถให้บริการตั๋วบีทีเอสร่วมกันได้

(4) รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ ระยะทาง 26 กม. เป็นโครงการของกทม.ซึ่งจะลงทุนด้านงานโยธา มูลค่าโครงการ 2.4 หมื่นล้านบาท และบริษัทคาดว่าจะมีโอกาสได้งานรับจ้างบริหารการเดินรถจากกทม. โดยขณะนี้ให้ที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าทำเสร็จปลายปีนี้ และคาดว่าปลายปีนี้จะได้เริ่มก่อสร้างก่อนที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกทม.จะหมดวาระ

(5) ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-บรมราชชนนี ระยะทาง 7 กม. คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 62 ขณะนี้กทม.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว คาดเสร็จสิ้นปีนี้ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายเสีเทา โดยเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ตลิ่งชัน ซึ่ง BTS มีโอกาสได้เจรจาบริหารเดินรถ เพราะระยะทางเพียง 7 กม. ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มอีก 6 ขบวน

(6) รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 36 กม. คาดว่าจะเปิดประมูลในปลายปี 58 และจะเปิดให้บริการในปี 63-64 ขณะนี้รฟม.ได้ยืนยันใช้เส้นทางเดิม หลังจากที่มีผู้ร้องให้เปลี่ยนเส้นทาง ดังนั้นจึงไม่ต้องทำ EIA ใหม่ โดยรอนำเสนอเข้าครม.พิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ การเดินรถสายสีชมพูเป็นรถแบบโมโนเรล ซึ่งบริษัทจะเข้าประมูล

ส่วนการเข้าประมูลการเดินรถในต่างประเทศนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า แม้บริษัทจะไม่ชนะการประมูลการเดินรถในปักกิ่ง แต่ก็เป็นไปตามคาด ซึ่งถือว่าเป็นการหาประสบการณ์ และในอนาคตยังมีโอกาสเข้าประมูลงานอื่น ๆ ในปักกิ่ง รวมทั้งมณฑลอื่นในจีน อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้บริษัทขอเน้นงานในประเทศก่อน

*แนวโน้มผลประกอบการ Q4 ปี 57/58 ดีกว่า Q3

นายสุรพงษ์ คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4 ปี 57/58 (ม.ค.-มี.ค.58) จะดีกว่าในไตรมาส 3 ปี 57/58 (ต.ค.-ธ.ค. 57) ที่มีกำไรสุทธิ 981 ล้านบาท รายได้ 1,839 ล้านบาท เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยในวันธรรมดา(weekday) ผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาระดับ 7 แสนคน/วัน ทุกวันในช่วง ม.ค.-ก.พ.58 ต่างกับไตรมาส 3 ที่แตะ 7 แสนคน/วันในบางวัน

ภาพรวมทั้งปี 57/58 (เม.ย.57-มี.ค.58) จำนวนผู้โดยสารเติบโต 3% รายได้จากการเดินรถ ( Fair box) โต 6% (ณ ธ.ค.57 รายได้เฉลี่ย 26.9 บาท/คน) ทั้งนี้ ยอมรับว่าจำนวนผู้โดยสารโตต่ำกว่าเป้าที่วางไว้โต 5-8% แต่รายได้จากเดินรถเป็นไปตามเป้า

"ปีนี้กำไรจากการดำเนินงานน่าจะดีกว่าปีก่อน แม้ว่าธุรกิจสื่อโฆษณา (VGI) จะลดลงจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ธุรกิจเดินรถไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งส่วนนี้ได้พยุงผลประกอบการปีนี้ไว้ทำให้มีกำไร นายสุรพงษ์ กล่าว

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารได้ระบุตามหนังสือชี้ชวนขอกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บีทีเอสโกรท ( BTSGIF) จะมีการปรับขึ้นตั๋วโดยสารในช่วงเดือนมิ.ย.58 ราว 5-6% แต่จะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะเงินเฟ้อที่ผ่านมาต่ำกว่าคาดและจะพิจารณาจากค่าใช้จ่าย หรือต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นจากเดิมหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาสภาวะตลาด ความสามารถการชำระค่าตั๋วโดยสาร ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) และการพิจารณาของคณะกรรมการ BTS และ กองทุน BTSGIF อนุมัติก่อน หากจะปรับขึ้นต้องแจ้งก่อนปรับจริง 30 วัน และจะมีผลในวันที่ 1 มิ.ย.58

ปัจจุบันบริษัทเก็บค่าโดยสาร 15-42 บาท ซึ่งเก็บต่ำกว่าสิทธิที่เก็บได้ในช่วง 20-60 บาท

นอกจากนี้ บริษัทเตรียมเข้าร่วมประมูลการบริหารตั๋วร่วม ที่ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)จะเปิดประมูลใน 6 เดือนข้างหน้า เพราะบริษัทเห็นโอกาสทางธุรกิจ และจะช่วยขยายฐานบัตรแรบบิท ซึ่งคาดว่าธุรกิจนี้จะเติบโตมีมูลค่าหมื่นล้านบาท โดยการบริหารตั๋วร่วมจะใช้บัตรเดียวกันในการจ่ายค่าตั๋วรถไฟฟ้า เรือด่วน รถเมล์ ทางด่วน

หลังจากที่ กลุ่มบีเอสวี (BSV) ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัทย่อย BTS กับกลุ่มบริษัท สมาร์ททราฟฟิค จำกัด และบริษัท วิกซ์ โมบิลิตี้ จำกัด ผู้รับงานโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ระบบตั๋วร่วม วงเงิน 338 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 30 เดือน นับจากวันที่ลงนาม 16 ก.พ. 58

ปัจจุบัน บัตรแรบบิทมีฐานลูกค้า 3.2 ล้านใบ จากที่คาดว่าได้ 3.5 ล้านใบ ในมี.ค. 58 ปรับขึ้นจากเดิมคาดไว้ 3 ล้านใบ เนื่องจากบริษัทได้ฐานลูกค้าเพิ่มจากคู่ค้า อาทิ บัตรอิอนแรบบิท ได้ 1.5 แสนใบ บัตรที่ร่วมกับธ.กรุงเทพได้เกือบ 1 ล้านใบ ส่วนที่ร่วมกับ อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง โดย"อาลีเพย์"เป็นผู้จำหน่ายบัตรแรบบิท อาลีบาบาและมารับบัตรที่ไทยและใช้เดินทางรถไฟฟ้าบีทีเอสในไทย ซึ่งได้รับผลตอบรับดีจากนักท่องเที่ยวจีน

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า บริษัทเจรจาเพิ่มเติมกับพาร์ทเนอร์ทั้งในและต่างประเทศที่เป็นธุรกิจเกี่ยวข้องการเงิน จับมือมาร่วมใช้ facility ของบัตรแรบบิท คาดว่าจะได้ข้อชัดเจนภายในปีนี้ ซึ่งบัตรแรบบิทตอนนี้รายได้ยังน้อยอยู่แต่ถ้ามีโครงข่ายขยายมากขึ้นก็จะเห็นการเติบโตบัตรแรบบิท

ส่วนโครงการอสังหาริมทรัพย์ จากที่ BTS ร่วมกับ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ร่วมทุนในบริษัท บีทีเอส แสนสิริ โฮลดิ้ง วัน จำกัดที่ถือหุ้นฝ่ายละ 50% นั้น ได้ร่วมโครงการอสังหาริมทรัพย์แห่งแรกที่หมอชิต เป็นโครงการคอนโดมิเนียมสูง 43 ชั้น มูลค่าโครงการ 6 พันล้านบาท จะเปิดขายในเม.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ