ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 336,774 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 10, 2015 08:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (2 – 6 มีนาคม 2558) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 336,774 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 84,193 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 2.77% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 60% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 200,939 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 78,843 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 6,141 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23% และ 2% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB196A (อายุ 4.3 ปี) LB176A (อายุ 2.3 ปี) และ LB21DA (อายุ 6.8 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 19,370 ล้านบาท 15,292 ล้านบาท และ 13,849 ล้านบาท ตามลำดับ

ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของบริษัท ลีสซิ่งไอซีบีซี (ไทย) จำกัด รุ่น ICBCTL174A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 406 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น MBTH16NA (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 310 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด รุ่น TLT164A (AAA) มูลค่าการซื้อขาย 309 ล้านบาท

ราคา (Price) ของพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวเพิ่มขึ้นในตราสารทุกช่วงอายุ หรือผู้ซื้อจะได้ผลตอบแทน (Yield) ลดลง ประมาณ 0.01% - 0.05% หากเข้าซื้อพันธบัตรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ภายหลังธนาคารกลางจีนประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปีลง 0.25% สู่ระดับ 5.35% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปีลง 0.25% สู่ระดับ 2.50% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับปัจจัยในประเทศ ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน ก.พ. ลดลง 0.52% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับลดเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ส่งผลให้ในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ CPI ติดลบ 0.47% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้นักลงทุนบางส่วนคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 11 มี.ค. นี้ จึงมีแรงซื้อจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลง)

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.05% และปรับเพิ่มการคาดการณ์ GDP Growth ปี 2015 และ 2016 ที่ 1.5% และ 1.9% ตามลำดับ สำหรับมาตรการ QE จะเข้าซื้อ Government bond และ Corporate Bond ในตลาดรองเฉพาะตราสารหนี้ที่มีอายุ 2 -30 ปี ภายใต้วงเงิน 6 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. นี้ จนถึง ก.ย. 59 หรือจนกว่าเงินเฟ้อขยับถึงเป้าหมายที่ 2% ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้แล้ว การประมูลพันธบัตรระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) ทั้งตั๋วเงินคลังและพันธบัตร ธปท. ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ด้วยความต้องการประมูลในจำนวนที่สูงกว่าปริมาณพันธบัตรที่ออกขาย (ค่า Bid Coverage Ratio: BCR) ประมาณ 1.48-3.32 เท่า

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 มี.ค. 58) มีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาในตราสารหนี้รวมสุทธิ 20,502 ล้านบาท โดยเงินไหลเข้าในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุคงเหลือ > 1 ปี) ประมาณ 3,139 ล้านบาท และไหลเข้ามาในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุน้อยกว่า 1 ปี) ประมาณ 17,363 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นการพักเงินเพื่อรอผลการประชุมของ กนง. ในสัปดาห์นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ