(เพิ่มเติม) EGCO เผยแผน 5 ปี(58-62)ลงทุน 4.48 หมื่นลบ.เพิ่มกำลังผลิตใหม่ 1,500 MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 11, 2015 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ผลิตไฟฟ้า(EGCO)ระบุว่า ในช่วง 5 ปี(ปี 58-62) จะมีกำลังผลิตใหม่เข้าระบบราว 1,500 เมกะวัตต์ ภายใต้เงินลงทุนราว 44,800 ล้านบาท โดยศึกษาการขยายกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า 3 แห่งในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย อีกรวม 500 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนราว 38,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตได้ปี 62 พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนหลายโครงการทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน ทั้งการพิจารณาร่วมทุนพันธมิตรท้องถิ่นขยายโครงการเดิมและซื้อโครงการที่เดินเครื่องผลิตแล้วในลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และการลงทุนเมียนมาร์

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานในปีนี้คาดว่าจะมีกำไรสุทธิใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 7,667 ล้านบาท หลังกำไรจากโรงไฟฟ้าระยองหายไป 400 ล้านบาทเนื่องจากหมดสัญญาการขายไฟฟ้าเมื่อเดือนธ.ค.ปีก่อน แต่ก็จะรับรู้กำไรได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้าระบบตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วมาทดแทนกันได้

นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ EGCO กล่าวว่า กำลังการผลิตใหม่ที่จะทยอยเดินเครื่องผลิตในช่วง 5 ปีข้างหน้า มีจำนวน 6 โครงการ รวมกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น 1,498 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขนอมหน่วยที่ 4 จ.นครศรีธรรมราช จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือน มิ.ย.59 ,โรงไฟฟ้าพลังงานลม "ชัยภูมิ วินด์ฟาร์ม" จ.ชัยภูมิ จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเดือนธ.ค.59 ,โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ในโครงการทีพี โคเจน และเอสเค โคเจน ในจ.ราชบุรี จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือน ต.ค.60 ,โครงการทีเจ โคเจน จ.ปทุมธานี จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือน มิ.ย.60 และโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในลาว จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเดือน ต.ค.62

นอกจากนี้ ยังมีโครงการในต่างประเทศที่มีศักยภาพที่จะขยาย หรือเพิ่มหน่วยการผลิตในพื้นที่เดิม ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินซานบัวนาเวนทูราในเมืองเคซอนของฟิลิปปินส์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินมาซินลอคในฟิลิปปินส์ และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ"สตาร์"ในอินโดนีเซีย รวมกำลังการผลิตตามสัญญาถือหุ้นราว 500 เมกะวัตต์ หากสามารถสรุปความเป็นไปได้ก็คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 38,000 ล้านบาท และน่าจะเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่ปี 62

ขณะเดียวกัน EGCO ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนหลายโครงการทั้งในประเทศ เอเซียแปซิฟิก และออสเตรเลีย โดยในอาเซียนมีโอกาสร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจในท้องถิ่นทั้งการขยายโครงการที่มีอยู่เดิม และการซื้อสินทรัพย์ที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว โดยเฉพาะในลาว ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งในส่วนของฟิลิปปินส์ มีแผนจะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้ามาซินลอค เป็นไม่เกิน 50% จากปัจจุบันถืออยู่ 40.95%

นายสหัส กล่าวยอมรับว่า โอกาสการซื้อกิจการยากขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจไม่ดีทำให้ผู้ขายยังไม่ต้องการรีบขายสินทรัพย์ เพื่อรอให้ได้ราคาที่ดีขึ้นก่อน แต่ก็มีบางส่วนสนใจเสนอขายเช่นในอินเดีย ที่ชักชวนให้เข้าไปศึกษาเพื่อซื้อกิจการหลายแห่ง่ โดยมีกำลังการผลิตรวมเป็นระดับพันเมกะวัตต์ เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าปีนี้จะสุรปแผนการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศได้อย่างน้อย 2 โครงการ

ส่วนความคืบหน้าการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าทวายในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวายในเมียนมาร์ ร่วมกับ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD)นั้น คาดว่าจะมีการลงนามรับสัมปทานกับเมียนมาร์ได้ภายในครึ่งแรกปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะลงนามได้ภายในเดือน มี.ค.นี้ โดยโครงการดังกล่าว EGCO จะถือหุ้น 70% ซึ่งระยะแรกจะผลิตไฟฟ้าขนาด 100 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เป็นเชื้อเพลิง ใช้เงินลงทุนราว 1,600 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 60 ส่วนระยะที่ 2 วางเป้าหมายจะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์ ซึ่งอาจจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ขึ้นมา แต่จะต้องรอดูความต้องการใช้ไฟฟ้าในเมียนมาร์ก่อน

"พอร์ตลงทุนในต่างประเทศตอนนี้เรามีประมาณ 32% ขณะที่เมืองไทยมีเริ่มมีข่าวเรื่องความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ชะลอตัวลงทำให้การเกิดโรงไฟฟ้าใหม่ๆสะดุดในไทย การเติบโตของ EGCO ก็จะออกไปต่างประเทศ ซึ่งเราก็ออกมาแล้วก่อนหน้านี้ และคิดว่าพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศน่าจะเพิ่มเป็นระดับ 50% ได้ในอนาคต"นายสหัส กล่าว

นายสหัส กล่าวอีกว่า พอร์ตการลงทุนจากต่างประเทศสามารถสร้างกำไรให้กับบริษัทสัดส่วนราว 30% และน่าจะเพิ่มเป็นระดับ 50% ในช่วง 7-8 ปีข้างหน้า ขณะที่การลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ที่ EGCO ถือหุ้นอยู่ราว 40% นั้น กำลังมองหาโอกาสในการขายออกไปหากได้ราคาดี หลังเห็นว่าไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดทำโรงไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวได้ ประกอบกับราคาถ่านหินตกต่ำและมีความผันผวน รวมถึงบริษัทไม่มีความชำนาญในธุรกิจดังกล่าวมากนัก

**กำไรใกล้เคียงปีก่อน

นายสหัส คาดว่ากำไรปีนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อน แม้ว่ากำไรจากโรงไฟฟ้าระยองหายไป 400 ล้านบาทเนื่องจากหมดสัญญาการขายไฟฟ้าเมื่อเดือนธ.ค.ปีก่อน แต่ก็จะรับรู้กำไรได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้าระบบเมื่อช่วงครึ่งหลังของปีที่แล้วมาทดแทนได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โบโค ร็อค วินด์ฟาร์ม ในออสเตรเลีย และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนหาดใหญ่ จ.สงขลา

ตลอดจนการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วในต่างประเทศ 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าถ่านหินมาซินลอค และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพ"สตาร์" รวมถึงการเข้าถือหุ้นเพิ่มในบริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด(NED) ผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในไทย เมื่อต้นปีนี้ เป็นระดับ 66.66% จากเดิมที่ 33.33% ด้วย

นอกจากนี้ การที่บริษัทมีแผนจะปรับหนี้ระยะสั้นวงเงินกว่า 8 พันล้านบาทให้เป็นหนี้ระยะยาว ด้วยการออกหุ้นกู้ขายเฉพาะเจาะจง และการกู้เงินจากสถาบันการเงินนั้น คาดว่าจะทำให้มีต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นด้วย โดยปัจจุบันบริษัทมีหนี้ระยะสั้น 9,800 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อใช้ซื้อกิจการในปีที่ผ่านมา ขณะที่มีหนี้ระยะยาวราว 32,000 ล้านบาท

สำหรับงบลงทุนที่ตั้งไว้ในช่วง 5 ปีที่ 44,800 ล้านบาทนั้น เป็นการลงทุนที่มีอยู่ในแผนงาน ซึ่งไม่รวมงบการซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน(M&A) โดยปีนี้มีแผนจะใช้เงินลงทุน 25,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ในโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและพัฒนา ได้แก่ โรงไฟฟ้าขนอม ,ไซยะบุรี และโรงไฟฟ้ากลุ่ม SPP และในปีหน้าก็จะใช้เงินลงทุนต่อเนื่องอีก 15,000 ล้านบาท

ส่วนเงินลงทุนที่จะใช้ในการทำ M&A นั้น จะมาจากการกู้ยืม ซึ่งบริษัทยังมีศักยภาพการกู้ได้ เนื่องจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E) ของงบการเงินเฉพาะบริษัทยังอยู่ในระดับ 0.8 เท่า ไม่เกินกำหนดที่ 1.5 เท่า

นายสหัส กล่าวอีกว่า โรงไฟฟ้าระยองที่หมดสัญญาการซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)แล้วนั้น บริษัทเตรียมที่จะเครื่องกำเนิดไฟฟ้าบางส่วนไปติดตั้งในการพัฒนาโรงไฟฟ้าทวาย ส่วนที่เหลือก็จะนำออกจำหน่ายต่อไป นอกจากนี้ยังศึกษาโอกาสจะพัฒนาพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าระยอง ที่มีพื้นที่ราว 400 ไร่ เป็นสวนอุตสาหกรรม แต่ก็จะกันบางส่วนสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ หากรัฐบาลเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่(IPP) อีกรอบด้วย

ปัจจุบัน EGCO มีโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว 23 แห่ง กำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนร่วมทุน 3,746 เมกะวัตต์ ใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย,ลาว,ฟิลิปปินส์,อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา 6 โครงการ กำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนร่วมทุน 1,498 เมกะวัตต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ