"หลังจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่เข้ามาในเดือน ส.ค.57 และปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นเสร็จในเดือน ก.ย.57 เราก็ได้เข้ามาปรับปรุงกิจการในหลายด้านเพื่อให้ธุรกิจได้มาตรฐาน จากนี้ถึงในอนาคตเราจะทำธุรกิจที่ลูกค้าและสังคมได้ประโยชน์ ทั้งมีเดีย พลังงานทดแทน ไอที เราจะเป็นผู้ลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย มุ่งเน้นการลดต้นทุน พร้อมไปกับการเสริมความสามารถของตัวเอง"นายวรัญญู กล่าว
AJP คาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตก้าวกระโดดในอนาคต จากปีนี้ที่ตั้งเป้าหมายรายได้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 750 ล้านบาท และรักษาอัตรากำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 57 ที่มีรายได้กว่า 130 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการเดินหน้าจัดโครงสร้างธุรกิจ ทั้งการต่อยอดธุรกิจปัจจุบันที่ดำเนินธุรรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยการจัดหา ร่วมผลิตรายการ และพัฒนาคอนเทนท์ด้านสาระ บันเทิง กีฬา ที่คาดว่าจะสร้างรายได้เข้ามาถึง 300 ล้านบาทในปีนี้ รวมทั้งการขยายธุรกิจใหม่
นายวรัญูญู เปิดเผยว่า ได้รับการมอบหมายงานขยายธุรกิจด้านพลังงานและไอที เนื่องจากจบการศึกษาทางด้านวิศวกรรมในระดับปริญญาเอก และมีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้บริหารด้านไอทีจากธนาคารแห่งหนึ่ง โดยขณะนี้ บริษัท เอเจพี พาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่ อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการโซลาร์ฟาร์มขนาด 4-8 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 680 ล้านบาท ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(COD)มาแล้ว 1-2 ปี และได้รับค่า Adder ในอัตรา 8 บาท/หน่วย คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 2/58
ทั้งนี้ บริษัทจะใช้โรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นโครงการนำร่อง(Pilot Project) เพื่อต่อยอดธุรกิจพลังงานทดแทน โดยปัจจุบันมีความสนใจร่วมทุนตั้งโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มแห่งใหม่ รวมถึงศึกษาการทำโรงไฟฟ้าขยะด้วย โดยจะยื่นเสนอขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐในระบบใหม่ที่เป็นการคิดค่าไฟฟ้าแบบ Feed in Tarrif(FiT) หลังจากซื้อโรงไฟฟ้าแห่งแรกเข้ามาที่จะสามารถรับรู้รายได้ในทันที
ส่วนธุรกิจไอทีนั้น นายวรัญญู เปิดเผยว่า บริษัทศึกษาการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปรายใหญ่ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแอพลิเคชั่นบน Google ซึ่ง AJP จะถือหุ้นไม่เกิน 40% โดยมองเห็นความจำเป็นของธุรกิจในปัจจุบันที่จะต้องใช้เทคโนโลยีด้านไอทีในการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งธุรกิจดังกล่าวยังสามารถต่อยอดไปยังธุรกิจการฝึกอบรมอีกด้วย คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในไตรมาส 2/58
นายวรัญญู กล่าวว่า ในด้านธุรกิจมีเดียและอีเว้นท์ ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าถือหุ้นไม่เกิน 40% ในกิจการสตูดิโอที่ให้บริการเช่าสถานที่และอุปกรณ์เพื่อถ่ายทำโฆษณาและละคร เป็นกิจการมีขนาดใหญ่ในระดับ 1 ใน 3 ของธุรกิจสตูดิโอในประเทศไทย ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีทำรายได้ปีละกว่า 100 ล้านบาท แต่ขาดเงินลงทุน เบื้องต้นคาดวาจะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านบาทเข้าไปซื้อหุ้นและอัดฉีดเงินทุน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในการออกตราสารทางการเงินเพื่อระดมเงินทุนมาขยายธุรกิจ เพราะมองว่าจะมีการเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคทีวีดิจิตอล โดยคาดว่าจะบรรลุข้อตกลงทั้งหมดภายในไตรมาส 3/58
ก่อนหน้านี้ บริษัทได้ร่วมมือกับ บริษัท เอ็มไอซี บรอดแคส จำกัด(MIC) ในการซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์จากต่างประเทศเข้ามาฉายในไย โดยเฉพาะในช่องทีวีดาวเทียม ซึ่งมีจำนวน 4 ช่องที่บริษัทจะบริหารจัดการเองภายใต้ชื่อ ช่อง"N-EXT" จากทั้งหมดที่มีอยู่ 16 ช่อง โดยขณะนี้เจรจาซื้อภาพยนตร์ซีรีย์ชื่อดังจากจีนที่มีการกลับมาสร้างใหม่(รีเมค) ได้แก่ จิ๋นซีฮ่องเต้, ชอลิ้วเฮียง และ The last emperor เป็นต้น
และได้ลงนามในสัญญากับ MUSE GROUP ประเทศไทยและสิงคโป เพื่อร่วมกันดำเนินธุรกิจจัดอีเวนท์กีฬาและคอนเสิร์ตของศิลปินระดับโลกทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เริ่มจากการจัดการแข่งขันกอล์ฟ“ยูโรเปี้ยนทัวร์ ไทยแลนด์ คลาสสิก"และขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาจัดอีเวนท์ใหม่ ได้แก่ การจัดงานคิตตี้รัน ที่มีการแต่งกายคอสตูมตัวการ์ตูนฮัลโหลคิตตี้, ยื่นข้อเสนอให้ทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี้เข้ามาจัดทัวร์นาเม้นท์ในไทย หลังจากที่ทีมอาร์เซนอลปรับโปรแกรมเดินทางมาไทยออกจากการทัวร์เอเชียในปีนี้ รวมทั้งมีแผนดึงศิลปินระดับโลกเข้ามาจัดคอนเสิร์ตครั้งใหญ่ในประเทศไทยด้วย
อีกทั้งยังเปิดตัวธุรกิจใหม่เอาใจหนุ่มไทยทั้งประเทศ โดยจับมือเซ็นลิขสิทธ์กับ Sabra japan สื่อดิจิตอลออนไลน์อันดับหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ที่มีสมาชิกและยอดติดตามกว่าสองล้านคน พร้อมนางแบบเซ็กซี่ แดนปลาดิบในสังกัดอีกนับหมื่นที่จะมาสร้างกิจกรรมความคึกคักให้กับหนุ่มไทยถึงบ้าน โดยการดำเนินการจัดกิจกรรมทั้งหมดเริ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 57 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1/58 นี้
นายวรัญญู กล่าวว่า แผนการลงทุนดังกล่าวจะใช้แหล่งเงินทุนผ่านการระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม(RO)และยังมีแผนออกหุ้นกู้อีก 2 พันล้านบาท โดยเบื้องต้นจะจัดสรรเงินลงทุนให้กับธุรกิจมีเดียฯ ในสัดส่วน 50% ธุรกิจพลังงานทดแทน 17% และ ธุรกิจไอที 17% โดยคาดว่าในอนาคตภายใน 1-2 ปีทั้ง 3 ธุรกิจจะมีสัดส่วนรายได้เท่า ๆ กัน โดยขณะนี้ผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ นายภัทรศักดิ์ โอสถานุเคราะห์ ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 16.80% ยืนยันความพร้อมใส่เงินเพิ่มทุนให้กับบริษัท และยังมีผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่น ๆ ที่แสดงความสนใจที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนเกินสิทธิที่ได้รับด้วย
อนึ่ง AJP อยู่ระหว่างเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 263,775,000 บาท จากทุนจดทะเบียนเดิม 391,775,000 บาท เป็นจำนวน 655,550,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 263,775,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท จัดสรรขายให้ผู้ถือหุ้น(Right Offering) ในสัดส่วน 1:1 ที่ราคาจองซื้อ 6 บาท/หุ้น กำหนดวันจองซื้อและชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนวันที่ 13, 16-20, 23-27 มี.ค.58 (รวม 11 วันทำการ)