พร้อมมั่นใจปีนี้ผลงานเป็นบวกแม้คาดราคาสังกะสี 2 พันเหรียญ/ตันต่ำกว่าปีก่อน และจะยังคงดำเนินธุรกิจสังกะสีต่อไป แม้จะหยุดผลิตแร่จากเหมืองแม่สอดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็ตาม ซึ่งจะมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์โลหะสังกะสีผสมที่มีมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่ตลาด เช่น ซิงก์ บอล และซิงก์ เกรน และอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอื่นๆ รวมถึงจัดหาแหล่งวัตถุดิบทางเลือกอื่นเพื่อทดแทนแร่สังกะสีจากเหมืองแม่สอด ซึ่งดำเนินการโดยพีดีไอ แมททีเรียล
นายฟรานซิส แวนเบลเลน กรรมการผู้จัดการ PDI กล่าวว่า ตามแผนธุรกิจใหม่ในปี 60 สัดส่วนรายได้ของ PDI จะมาจากธุรกิจสังกะสีและธุรกิจโลหะพื้นฐานอื่นๆ ราว 30%,รายได้จากธุรกิจพลังงาน ภายใต้ พีดีไอ เอ็นเนอร์ยี่ จะอยู่ที่ราว 40-50% และพีดีไอ อีโค ซึ่งเป็นการลงทุนด้านการกำจัดกากของเสียราว 20-30% จากปีที่แล้วที่มีรายได้ทั้งหมดมาจากธุรกิจสังกะสี
สำหรับเงินลงทุนในช่วง 3 ปีที่ระดับ 1,500 ล้านบาทนั้นจะมาจากกระแสเงินสดในการดำเนินงาน และเงินกู้จากสถาบันทางการเงิน โดยโครงการของพีดีไอ เอ็นเนอร์ยี่ ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล(ไบโอแมส) ขนาด 8 เมกะวัตต์ ที่จ.สุราษฎร์ธานี ใช้ทะลายปาล์มเป็นเชื้อเพลิง โดยบริษัทจะเข้าไปร่วมทุนราว 70-80% คาดว่าจะประกาศแผนลงทุนได้ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า และเริ่มก่อสร้างภายในปีนี้ แล้วเสร็จและผลิตในปี 60 โดยใช้เงินลงทุนราว 80-100 ล้านบาท/เมกะวัตต์
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ขนาดรวม 24 เมกะวัตต์ ใช้ประโยชน์บนที่ดินบ่อเก็บกากแร่ของโรงงานที่ จ.ตาก ขนาด 420 ไร่ สามารถรองรับโครงการโซลาร์ฟาร์มได้ถึง 50 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ขนาด 18 เมกะวัตต์ที่ จ.นครราชสีมา เป็นการร่วมลงทุน 80% ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลกำลังลม ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี
“เราได้ศึกษาเทคนิคและการลงทุนทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลมเสร็จเรียบร้อยแล้ว รอเพียงการประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้ารอบใหม่จากภาครัฐที่คาดว่าจะเปิดภายในปีนี้ หากเราได้รับสัญญาซื้อไฟฟ้า ก็จะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ภายใน 1-2 ปี"นายแวนเบลเลน กล่าว
นายแวนเบลเลน กล่าวยืนยันว่า บริษัทจะยังคงดำเนินธุรกิจสังกะสี แม้จะหยุดผลิตแร่จากเหมืองแม่สอดในช่วงปลายปี 59 ถึงต้นปี 60 แต่ธุรกิจสังกะสีจะยังเป็นหนึ่งในธุรกิจของบริษัท โดยจะมุ่งเน้นผลิตโลหะสังกะสีผสมที่มีมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาด รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มอื่นๆ รวมถึงจัดหาแหล่งวัตถุดิบทางเลือกอื่นเพื่อทดแทนแร่สังกะสีจากเหมืองแม่สอด ซึ่งในส่วนนี้จะดำเนินการภายใต้กลุ่มพีดีไอ แมททีเรียล
ส่วนธุรกิจการลงทุนด้านการกำจัดกากของเสีย ภายใต้พีดีไอ อีโคนั้น จะเป็นการร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ในการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการที่เกี่ยวกับการจัดการกากของเสียที่แม่สอด จ.ตาก ขณะเดียวกัน บริษัทยังมองหาโอกาสในการเข้าซื้อธุรกิจในกลุ่มของวัตุดิบ และธุรกิจด้านการกำจัดกากของเสียทั้งในและต่างประเทศด้วย โดยงบลงทุนที่วางไว้ในช่วง 3 ปีนี้ก็จะรวมถึงงบการซื้อกิจการด้วย
PDI มีเหมืองแร่สังกะสี และโรงถลุงแร่ จ.ตาก โดยเหมืองแร่สังกะสีกำลังจะหมดอายุประทานบัตรในปี 66 ขณะที่มีกำลังการผลิตโลหะสังกะสีอยู่ที่ 1.1 แสนตัน/ปี โดยกระบวนการผลิตจะใช้แร่จาก 3 แหล่ง ได้แก่ แร่ซิลิเกตจากเหมืองแม่สอด ,แร่สังกะสีซัลไฟด์นำเข้า และวัตถุดิบรีไซเคิล
*กำไรไม่ดีเท่าปีที่แล้ว
นายแวนเบลเลน ยอมรับว่า ปีนี้กำไรและรายได้คงไม่ดีเท่ากับปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 461 ล้านบาท และมีรายได้ 5,593 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มราคาโลหะสังกะสีในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 2,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลงจาก 2,162 เหรียญสหรัฐ/ตันในปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การใช้จากจีนชะลอลงไปด้ว
ขณะที่บริษัทวางแผนจะผลิตและขายโลหะสังกะสีในปีนี้ที่ระดับ 75,000 ตันเท่ากับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมในการควบคุมต้นทุน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการถลุงแร่ รวมถึงการใช้แร่ซิลิเกตจากเหมืองแม่สอด เป็นสัดส่วนเท่ากับปีที่แล้วที่ระดับราว 50% สำหรับในปีนี้บริษัทยังไม่ได้ขายล่วงหน้าโลหะสังกะสี เนื่องจากยังไม่ได้ราคาตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตามก็มีการทำประกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ด้วย
“การรักษาอัตรากำไรของบริษัทในปีนี้ให้อยู่ในระดับเดียวกับปีที่แล้วเป็นเรื่องยาก เพราะมีปัจจัยความเสี่ยงหลายเรื่อง ทั้งต้นทุนด้านพลังงาน และราคาโลหะสังกะสี เรามองว่าถ้าราคาในตลาด LME ลดลง 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน กำไรของเราก็จะลดลง 100 ล้านบาท"นายแวนเบลเลน กล่าว