โดยคาดว่าปริมาณขายถ่านหินในปีนี้จะลดลงเหลือ 6 ล้านตันเศษๆ จาก 6.85 ล้านตันในปีก่อน เนื่องจากคาดว่าจะมีการผลิตถ่านหินลดลง เพราะราคาถ่านหินยังอยู่ในระดับต่ำและหากมีแนวโน้มลดลงอีกก็จะเก็บปริมาณสำรองถ่านหินไว้ก่อน โดยปริมาณการขายถ่านหินในปีนี้จะมาจากเหมือง LHI ที่มีกำลังการผลิตปีละ 3-3.5 ล้านตัน และเหมือง SGP ที่มีกำลังผลิตปีละ 2-2.5 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังมีการเทรดดิ้งถ่านหิน ด้วยการซื้อถ่านหินจากเหมืองถ่านหินอื่นมาผสม โดยนำเข้ามาจากอินโดนีเซียไปที่คลังที่จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งบริษัทอาจจะเพิ่มการขายในส่วนของเทรดดิ้ง ซึ่งเป็นการขายให้กับรายย่อยมากขึ้น เพราะมีมาร์จินดีกว่า และจะช่วยเพิ่มกำไรได้เร็วขึ้นแต่ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่มากนัก
"ปีนี้ LANNA ครบรอบ 30 ปี เป็นปีที่ยากลำบาก แต่ปีนี้บริษัทค่อนข้าง clean ด้านภาษี เหมือง LHI ที่ตั้งสำรองตัวที่ค้างเยอะก็ไม่มีแล้ว เราไม่น่าจะมีปัญหา ดังนั้น ปีนี้ LANNA clean มากแทบจะไม่มีปัญหาเรื่องภาษี และเป็นบริษัทไม่มีหนี้"นางสาว
นางสาวเพชรรัตน์ กล่าวว่า ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยของเหมือง LHI ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 36 เหรียญสหรัฐ/ตัน และเหมือง SGP อยู่ที่ที่ 47.78 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนราคาถ่านหินในปีนี้น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง เพราะยังมีอุปทานส่วนเกินของ ถ่านหินอยู่จำนวนมาก บริษัทจึงต้องวางกลยุทธ์เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการขายให้สอดคล้องกับราคาที่ลดต่ำลง ขณะเดียวกัน ก็อยู่ระหว่างศึกษาที่จะร่วมลงทุนกับพันธมิตร เพื่อทำโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในอินโดนีเซียด้วย
สำหรับผลประกอบการปี 57 บริษัทมีกำไรสุทธิ 430 ล้านบาท มาจากธุรกิจถ่านหินราว 226 ล้านบาท ,ธุรกิจเอทานอล ราว 144 ล้านบาท และมีรายได้รวมที่ 12,246 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากธุรกิจขายถ่านหิน 9,712 ล้านบาท และรายได้จาก ธุรกิจเอทานอล 2,496 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นรายได้อื่นๆ
นางสาวเพชรรัตน์ กล่าวว่า สำหรับธุรกิจเอทานอลของบมจ.ไทยอะโกร เอ็นเนอร์ยี่(TAE) ที่ LANNA ถือหุ้น 51% นั้น คาดว่าปีนี้ TAE จะมีรายได้และกำไรสูงกว่าปีก่อน จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นมาที่ 106 ล้านลิตร จากปีก่อนที่ 98 ล้านลิตร ส่วนราคาขายคาดว่าจะใกล้เคียงปีก่อนที่ 25-26 บาท/ลิตร
นายสีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ของ LANNA กล่าวถึงความคืบหน้าการเข้าซื้อเหมืองถ่านหิน แห่งใหม่ที่อินโดนีเซียว่า ล่าสุดได้เดินทางไปเจรจากับผู้ขายเพื่อขอลดราคาลงอีก เนื่องจากมีเรื่องค่าภาคหลวง (รอยัลตี้) ที่ ผู้ประกอบการจ่ายต่อรัฐบาลเข้ามา ซึ่งจะเริ่มเดือนมี.ค.นี้ จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เจรจาซื้อเหมืองแห่งนี้ไว้ที่ราคา 20 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ทางตอนใต้ของเกาะกาลิมันตัน ซึ่งคาดว่าการเจรจาครั้งนี้จะสรุปผลได้ หลังจากนั้นจะเสนอเรื่องต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในเดือนเม.ย.นี้
"จากเดิมคาดสรุปครึ่งปีแรกแต่ควรจะเร็วกว่านั้นเพราะทุกอย่างพร้อมแล้ว license พร้อมผลิต ถนนมีแล้วถ้าตกลงกันได้ก็จะผลิตได้ปีนี้ มีความเสี่ยงที่จะไม่จบดีลหรือไม่นั้น ตอนนี้เสี่ยงเรื่องที่ดิน ต้องรีบสรุปภายในการประชุมบอร์ดเดือนเมษายนนี้ จากนั้นเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 27 เมษายน การซื้อเหมืองตอนนี้เป็นข่าวดี ทำง่าย ใกล้จะสรุปมากแล้วถ้าไม่มีประเด็นรอยัลตี้ เพราะจะมี cost อีก 1 ดอลลาร์ จากเดิมคุยไว้ 20 กว่าล้านดอลลาร์สหรัฐ"นายสีหศักดิ์ กล่าว
นายสีหศักดิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทจะเข้าไปถือหุ้นในเหมืองดังกล่าว 49% และพันธมิตรสิงคโปร์ถือหุ้น 51% ซึ่งเป็นการขาย ในท้องถิ่นซึ่งมีตลาดอยู่แล้ว โดยมีปริมาณสำรองราว 40-50 ล้านตัน ขณะที่เป็นถ่านหินที่มีคุณภาพค่าความร้อนเฉลี่ยประมาณ 4,200 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียจะมีการปรับค่ารอยัลตี้ใหม่ที่จะเริ่มเดือนมี.ค. โดยถ่านหินที่มีค่าความร้อนน้อยกว่า 5,100 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม เดิมจ่าย 3% ปรับเป็น 7% ถ่านหินที่มีค่าความร้อน 5,100-6,100 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม ปรับจาก 5% เป็น 9% และถ่านหินที่มีค่าความร้อนมากกว่า 6,100 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม ปรับจาก 9% เป็น 13.5% ส่วนเหมืองถ่านหินเดิม 2 แห่งของบริษัทไม่ได้รับผลกระทบดังกล่าว
LANNA มีฐานการผลิตและจัดจำหน่ายถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย โดยถือหุ้น 55% ในเหมือง LHI โดยมีปริมาณสำรองถ่านหินคงเหลือไม่ต่ำกว่า 64 ล้านตัน และถือหุ้น 65% ในเหมือง SGP คาดว่ามีปริมาณสำรองถ่านหินคงเหลือไม่ต่ำกว่า 45 ล้านตัน