โดยผลการเจรจารถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือเป็นรายสัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1(ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) ราคากลาง 15,284,924,844.86 บาท บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD) ตกลงราคาที่ 15,269,000,000 บาท สัญญาที่ 2 (ช่วงสะพานใหม่-คูคต) ราคากลาง 6,659,991,127.04 บาท กลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture(บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น( (UNIQ) และ SINOHYDRO CORPORATION LIMITED และ CHINA HARBOUR ENGINEERING COMPANY LIMITED ตกลงราคาที่ 6,657,000,000 บาท
สัญญาที่ 3 (งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร) ราคากลาง 4,029,567,257.11 บาท กลุ่ม STEC-AS Joint Venture (บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด ตกลงราคาที่ 4,019,000,000 บาท และสัญญาที่ 4 (งานจ้างออกแบบควบคู่การก่อสร้างระบบราง ราคากลาง 2,867,796,694.73 บาท กลุ่ม STEC-AS Joint Venture ตกลงราคาที่ 2,841,000,000 บาท
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ตรวจสอบว่ามีผู้บริหาร รฟม.เปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สถานีสนามไชย-ท่าพระ ส่งผลให้ รฟม.ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 290 ล้านบาท ชุดที่มีนายไกร ตั้งสง่า กรรมการ รฟม.เป็นประธาน ว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง โดยยืนยันว่าการเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างมีความจำเป็นเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง และใช้สัญญาข้อ 13 พิจารณา ซึ่งบอร์ดเห็นชอบแล้ว ส่วนเหตุใช้สัญญาข้อ 17 เพื่อเปลี่ยนแปลงงาน เป็นกระบวนที่ทีมที่ปรึกษา ทั้งที่ปรึกษาโครงการ(PMC) และที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง(CSC) และคณะทำงาน รฟม. ได้เห็นชอบร่วมกันมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าบอร์ดอีกครั้ง โดยจะส่งเอกสารรายละเอียดผลการสอบสวน ให้สตง., สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท. ) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.), กระทรวงคมนาคม เพื่อชี้แจงกระบวนการว่าถูกต้องครบถ้วนและหากไม่มีข้อสงสัยเพิ่มเติมจะสามารถลงนามสัญญาจ้าง นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการ รฟม. (ฝ่ายวิศวกรรมและปฏิบัติการ) เป็นผู้ว่าฯ รฟม.ได้
ส่วนความคืบหน้าการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย(หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม.นั้น พล.อ.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างงานโยธาคืบหน้าแล้ว 60% จะแล้วเสร็จตามแผนปี 2561 โดยมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ล่าสุดให้ ดำเนินการตามมติ ครม.ปี 2553 โดยใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และให้คณะกรรมการมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เร่งหาข้อยุติเพื่อให้เปิดเดินรถได้ตามแผน ซึ่งจะต้องหาข้อยุติในปี 2558 ส่วนจะเป็นวิธีการใดขึ้นกับผลการหารือของกก.มาตรา 13 ซึ่งได้รายงานให้บอร์ดทราบว่า จะมีการประชุมกันในวันที่ 20 มีนาคมนี้
ส่วนการเดินรถสายสีเขียวใต้(แบริ่ง-สมุทรปราการ)นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกรุงเทพมหานคร(กทม.) ซึ่ง กทม.จะต้องรับหนี้ค่าก่อสร้างงานโยธาแทน รฟม. และหาข้อยุติเรื่องอำนาจการเดินรถนอกเขต กทม. ซึ่งหาก รฟม.สามารถเจรจากับ กทม.ได้ข้อยุติจะเสนอกระทรวงคมนาคมตามขั้นตอน แต่หากตกลงกันไม่ได้ รฟม.จะบริหารจัดการเดินรถเอง โดยอาจจะเจรจาตรงกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ(BTS) หรือบริษัทอื่นให้เดินรถได้ โดยจะพยายามให้เสร็จทันและเปิดเดินรถได้ทันตามแผนปี 2561 ทั้งนี้ รฟม.พยายามเร่งรัดแผนการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถเปิดเดินรถไฟฟ้าได้ตามแผน