แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะส่งสัญญาณชะลอตัว ตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกของที่ชะลอตัว ความเชื่อมั่นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ยังไม่ฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งทำให้ กนง. ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และเตรียมปรับลดประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลงจากเดิมที่คาดว่าปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 4% ซึ่งทำให้ธนาคารพาณิชย์คุมเข้มปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งบริษัทมองว่าเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าเอกชน เนื่องจากบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ เห็นได้จากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเพียง 2% เท่านั้นเมื่อเทียบกับสินเชื่อรวม
"ผมมองว่าเป็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าภาคเอกชน โดยบริษัทมีการเพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่งให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ"นายสมพลกล่าว
ที่ผ่านมาบริษัทจะให้วงเงินสินเชื่อแฟคตอริ่งเอสเอ็มอีรายใหม่อยู่ในระดับวงเงินประมาณ 100 ล้านบาท/เดือนเท่านั้น แต่ในปีนี้มีแผนเพิ่มอีกเท่าตัวเป็น 200 ล้านบาท เพราะความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้มีสูง เนื่องจากสถาบันการเงินยังไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มนี้มากนัก เนื่องจากยังไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจ ล่าสุดใน 2 เดือนที่ผ่านมา ต้องถือว่าผลงานเข้าเป้าตามที่วางไว้โดยได้เพิ่มวงเงินให้สินเชื่อแฟคตอริ่งลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหม่ได้มากถึง 245 ล้านบาท
นอกจากนี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท ยังกล่าวอีกว่า อยากให้นักลงทุนเข้าใจในธุรกิจของ “ลีซ อิท" ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่ใช่ “ลีซ ไอที" (ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ) สินค้าไอทีให้กับบริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) (SVOA) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเพียงเท่านั้น แต่จริงๆแล้ว “ลีซ อิท" มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงิน (ลิสซิ่ง) สินเชื่อเช่าซื้อ (ไฮ-เพอร์เชส) สินเชื่อแฟคตอริ่ง หรือการรับซื้อลูกหนี้ทางการค้า และสินเชื่อประเภทเทรดและโปรเจคไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อเพื่อการออกหนังสือค้ำประกันเข้าประมูลงาน ที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่มีความหลากหลายครบวงจร
โดยปัจจุบันได้มีการปรับพอร์ตลูกหนี้เพื่อรองรับการขยายตัวเชิงรุก โดยได้เพิ่มพอร์ตลูกหนี้ภาคเอกชนจากเดิมในสัดส่วน 20% มาเป็น 30% ในขณะที่ยังคงให้น้ำหนักหนี้ภาครัฐในสัดส่วนที่สูงอยู่เป็น 70% ซึ่งคาดหวังได้ว่าจะช่วยเพิ่มมาร์จินให้กับบริษัท