(เพิ่มเติม) LOXLEY จับมือบีวายดีจากจีน นำเข้ารถโดยสาร-รถยนต์นั่งไฟฟ้า,เป้า 400 คัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 18, 2015 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโกศล สุรโกมล ที่ปรึกษาบมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมมือกับบริษัท บีวายดี ออโต้ อินดัสตรี้ จำกัด จากจีน เพื่อนำเข้ารถโดยสาร และรถยนต์นั่งไฟฟ้าเพื่อการพาณิชย์ โดยเตรียมนำเข้าทำตลาดก่อน 2 รุ่น ตั้งเป้าขายปีแรก 400 คัน เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กรภาครัฐเอกชน พร้อมเล็งตั้งฐานการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแห่งแรกในไทย
"บริษัทศึกษาเรื่องการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้ามาระยะหนึ่งแล้ว จนกระทั่งมั่นใจว่าตลาดในประเทศพร้อมแล้ว สำหรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า บริษัทจึงเลือกรถโดยสารและรถยนต์นั่งไฟฟ้าของบีวายดี เข้ามาบุกตลาดเป็น 2 รุ่นแรก เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพ สมรรถนะและความปลอดภัยสูง"นายโกศล กล่าว

นายโกศล กล่าวว่า บริษัท บีวายดีฯ เป็นผู้นำด้านการผลิตแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าจากจีน ซึ่งการนำเข้ารถยนต์ 2 รุ่นเข้ามาในไทยครั้งนี้ ได้แก่ รถโดยสารไฟฟ้า รุ่น K9 และรถยนต์นั่งไฟฟ้า รุ่น E6 โดยรถโดยสารและรถยนต์นั่งไฟฟ้าจะไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศ และยังช่วยประหยัดพลังงาน ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ อีกทั้งมีค่าซ่อมบำรุงรักษาต่ำกว่ารถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั่วไป ขณะที่แบตเตอรี่รถยนต์ หลังจากครบอายุการใช้งานไม่น้อยกว่า 15 ปี สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น ใช้เป็นแบตเตอรี่สำรองต่างๆ

สำหรับกลยุทธ์การทำตลาด จะนำเสนอในลักษณะโซลูชั่นที่ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหารถโดยสาร และรถยนต์นั่งไฟฟ้า การสนับสนุนด้านการบริหารการเงิน การบริการหลังการขาย การจัดหาอะไหล่สำรองต่างๆทั้งในระยะเวลารับประกัน และหลังรับประกัน โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะเน้นลูกค้าภาครัฐและเอกชน โดยกลุ่มลูกค้ารถโดยสารไฟฟ้าจะเป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น สำหรับกลุ่มลูกค้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าจะเป็นหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทรถเช่า แท็กซี่มิเตอร์ เป็นต้น

ในส่วนของศูนย์บริการ ระยะแรก บริษัทจะร่วมมือกับพันธมิตรจัดตั้งศูนย์บริการกลาง และศูนย์บริการย่อย รวม 5 แห่งในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยช่วงแรกตั้งเป้าหมายยอดขายรถโดยสารไฟฟ้าไว้ประมาณ 200 คัน และรถยนต์นั่งไฟฟ้า 200 คัน ซึ่งจากนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลในขณะนี้ จะช่วยกระตุ้นยอดขายให้เติบโตต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปีนี้ และมีความเป็นไปได้ที่จะนำรถรุ่นอื่นๆเข้ามาทำตลาดเพิ่ม รวมถึงในอนาคตมีแผนจะลงทุนก่อตั้งโรงงานประกอบรถโดยสารไฟฟ้าขี้นภายในประเทศ เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด

นายโกศล กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับหน่วยงานราชการที่ยังมีความต้องการรถบัสโดยสาร รุ่น K9 ทั้งนี้ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเกี่ยวกับภาษีนำเข้าซึ่งปัจจุบันรถบัสสำเร็จรูปจะจ่ายภาษี 40% ของราคารถ CIF เพื่อสร้างแรงจูงใจผู้ใช้ ส่วนรถยนต์สำเร็จรูปกลับไม่เก็บภาษีนำเข้า ทั้งนี้ ตั้งราคาขายรถบัสไฟฟ้าที่ 12 ล้านบาท ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่ 3 ล้านบาท

นอกจากนี้ ล็อกซเล่ย์ คาดว่าในอนาคตหากมียอดขายมากขึ้นหรือประมาณ 500 คันต่อปี ก็มีความเป็นไปได้จจะตั้งโรงงานประกอบรถโดยสารรถไฟฟ้า ประเมินเงินลงทุนเบื้องต้นไม่เกิน 500 ล้านบาท สำหรับโรงงานขนาดผลิตหรือประกอบรถ จำนวน 2 พันคันต่อปี ขณะที่สถานีฐานชาร์ตแบตเตอรี่จะจับมือกับพันธมิตร ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง จะสร้างรองรับการบริการให้ลูกค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ