ฟิทช์ ระบุการแข่งขันรุนแรงกดดันโบรกขนาดเล็กและขนาดกลางในไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 18, 2015 17:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่าการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยจะกดดันผลการดำเนินงานของบริษัทหลักทรัพย์ขนาดเล็กและขนาดกลาง และอาจนำไปสู่การควบรวมกิจการภายในอุตสาหกรรมในระยะปานกลาง

อุตสาหกรรมธุรกิจหลักทรัพย์ไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวนผู้เล่นมากและมีการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทยปัจจุบันประกอบด้วยบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 34 บริษัท เพิ่มขึ้น 2-3 รายจากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมต่ำ (low barriers to entry) ทั้งนี้บริษัทหลักทรัพย์ที่มีจำนวนการซื้อขายหลักทรัพย์มากที่สุด 10 บริษัท มีส่วนแบ่งทางการตลาด 53% ของมูลค่าการซื้อขายรวม

ผลการดำเนินงานในปี 2557 ของบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีการปรับตัวอ่อนแอลงซึ่งสะท้อนถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นของธุรกิจหลักทรัพย์ โดยบริษัทหลักทรัพย์จดทะเบียนมีส่วนแบ่งทางการตลาดรวม 38% ของมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ทั้งหมดในปี 2557 ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่แย่ลงยังสอดคล้องกับมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันที่ได้ลดลงเหลือประมาณ 45,000 ล้านบาท ในปี 2557 จากประมาณ 50,000 ล้านบาทในปี 2556 อัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ลดลงเหลือ 13.1% ในปี 2557 จาก 15.8% ในปี 2556 ในขณะที่ระดับหนี้สินปรับตัวสูงขึ้น โดยอัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมปรับตัวลงเหลือ 52.7% ในปี 2557 จาก 58.3% ในปี 2556

การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในธุรกิจหลักทรัพย์จะยังคงกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยต่อไป อัตราค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยได้มีการปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เริ่มการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ในปี 2553 โดยอัตราค่าธรรมเนียมเฉลี่ยของอุตสาหกรรมได้ปรับตัวลงเหลือ 0.14% ในครึ่งปีแรกของปี 2557 จาก 0.18% ในปี 2553 รายได้ของธุรกิจหลักทรัพย์มีความผันผวนตามสภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และความผันผวนดังกล่าวอาจเพิ่มขึ้นภายในสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงานที่ปรับตัวแย่ลงในปี 2558

อัตรากำไรที่ลดลงของธุรกิจหลักทรัพย์อาจส่งผลให้มีการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทขนาดเล็ก หรือถูกซื้อกิจการโดยบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในระยะปานกลาง เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายธุรกิจ (franchise) และปริมาณธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทหลักทรัพย์ที่มีหุ้นส่วนทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกับธนาคารหรือถือหุ้นโดยธนาคารน่าจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้ได้ เนื่องจากการได้รับประโยชน์จากการแนะนำลูกค้า (client referral) และการขายบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (cross-selling) ผ่านธนาคาร

ปัจจุบัน ฟิทช์มีการจัดอันดับเครดิตบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทยทั้งหมด 7 บริษัท ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารแม่หรือบริษัทแม่ ซึ่งไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง

-บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ‘AA(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ

-บล.ไทยพาณิชย์ จำกัด อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ‘AA-(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

-บล.กสิกรไทย อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ‘AA-(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

-บล.ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย)อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ‘AA-(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

-บล.โนมูระพัฒนสิน จำกัด (มหาชน) ที่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ‘AA(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ขณะที่ฟิทช์คาดว่าอันดับเครดิตของ บล.เอเชีย พลัส ที่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ‘A-(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และ บล.ภัทร อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ‘A-(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งพิจารณาจากความแข็งแกร่งทางการเงินของตัวบริษัทเองจะสามารถรับมือกับปัจจัยความเสี่ยงได้เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีเครือข่ายธุรกิจและผลการดำเนินงานทางการเงินที่ดี

อย่างไรก็ตาม การปรับตัวลงอย่างรุนแรงของสภาวะการดำเนินงาน เช่น การลดลงของปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่องในระยะยาวอาจส่งผลทางลบต่ออันดับเครดิตของทั้งสองบริษัทหลักทรัพย์ดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ