(เพิ่มเติม) TNITY เล็งส่ง บจ.เข้าตลาดหุ้น 2-3 รายในปีนี้ มองเป้าดัชนี 1,680–1,700 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 18, 2015 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่าในปี 58 งานด้านวาณิชธนกิจยังมีลูกค้าในมือทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไป(PP) และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO) และธุรกรรมอื่น ๆ อีก 4-6 ราย ทั้งในตลาดหุ้น SET และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(MAI) ซึ่งครอบคลุมในหมวดพลังงาน เช่าซื้อ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านและสำนักงาน ธุรก้จการเงิน และสื่อสิ่งพิมพ์ หลังจากช่วงไตรมาสแรกของปีนี้บริษัทได้นำ TPCH และ S11 เข้าตลาดแล้ว

นางสาวสุธางค์ คนศิลป กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ทรีนิตี้ เปิดเผยว่า สำหรับดีล IPO ได้แก่ บริษัทในหมวดอุตสาหกรรมพลังงาน เช่าซื้อ ธุรกิจการเงิน ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในบ้านและสำนักงาน สื่อและสิ่งพิมพ์ ซึ่งมีกำหนดที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) ในปีนี้ 2-3 บริษัท

ด้านนายชาญชัย กงทองลักษณ์ กรรมการอำนวยการ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าเพิ่มลูกค้ากลุ่ม High Network ตามแผนในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 58-60) เฉลี่ยปีละ 20% จากสิ้นปี 57 บริษัทมีกลุ่มลูกค้าดังกล่าวอยู่ที่ 400 อัตรา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนที่ดีและไม่มีความอ่อนไหวกับค่าคอมมิชชั่นมากนัก

ขณะเดียวกันบริษัทจะเน้นด้านงานวาณิชธนกิจ(IB)ในการทำ IPO ดีล M&A และอื่นๆ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้อัตรากำไรขั้นต้นที่สูงมากขึ้น และเป็นการเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า โดยตั้งเป้ารายได้จากงาน IB แตะ 200 ล้านบาทในปี 60 จากสิ้นปี 57 มีรายได้จากงาน IB ราว 53.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 6.38% ของรายได้รวม

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ก็จะยังเป็นรายได้หลักของบริษัท โดยปัจจุบันมีจำนวนบัญชีลูกค้า 24,000 บัญชี ซึ่งเป็นบัญชีที่ Active จำนวน 30% ของบัญชีทั้งหมด ซึ่งบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด(มาร์เก็ตร์)ในปีนี้ใกล้เคียงหรือทรงตัวจากปีก่อนที่ระดับ 2.67% เนื่องจากแนวโน้มการแข่งขันมีความรุนแรงขึ้น หลังจากมีบริษัทใหม่เข้ามาเปิดตัวอีก 2 บริษัท จากปีก่อนที่มีเพิ่มเข้ามา 3 ราย

"การมีผู้เลทนรายใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้นจะทำให้กาข่งขันเพิ่มขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้อัตราค่าคอมมิชชั่นทั้งตลาดมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนที่ 1.14% ของมูลค่าการซื้อขาย โดยอัตราค่าคอมมิชชั่นของบริษัทในปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.14-1.15% ของมูลค่าการซื้อขาย หรือใกล้เคียงกับตลาด"นายชาญชัย กล่าว

ทั้งนี้ แนวโน้มปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท/วัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย 3.9 หมื่นล้านบาท จากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศที่ส่งผลดีกับตลาดทุน เช่น การใช้มาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทำให้สภาพคล่องในระบบสูงขึ้น ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงมีผลตอบแทนที่ดี ประกอบกับความคาดหวังแผนการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แม้ว่าหนี้สินภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

"ปริมาณการซื้อขายของทั้งตลาดที่เรามองว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท จะเห็นได้จากในช่วงเดือนมกราคมปริมาณการซื้อ-ขายเฉลี่ยอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์ปริมาณการซื้อ-ขายเฉลี่ยอยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท และต้นเดือนมีนาคม-12 มีนาคม ปริมาณการซื่อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ภาพรวมในเดือนต่อๆไปก็น่าจะเป็นไปในเทรนด์แบบนี้"นายชาญชัย กล่าว

ขณะที่นางแก้วกมล ตันติเฉลิม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายธนบดีธนกิจ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวม(AUM)ในธุรกิจด้านการจัดการกองทุนส่วนบุคลลในปีนี้เพิ่มเป็น 3 พันล้านบาท จากปีก่อน 2.9 พันล้านบาท ขณะนี้ใกล้เคียงเป้าหมายแล้ว และอยู่ระหว่างปรับเป้าหมายใหม่ให้เพิ่มขึ้น อีกทั้งตั้งเป้าสร้างผลตอบแทนให้กับลูกค้าอย่างน้อย 15% โดยในปี 57 อยู่ที่ระดับ 15% ซึ่งในช่วงตั้งแต่ 1 ม.ค-6 มี.ค. 58 บริษัทสามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยให้กับลูกค้าแล้วที่ 5%

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ กล่าวถึงภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นว่า มองการแถลงนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันนี้มีโอกาสแค่ 20% เท่านั้นที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือน มิ.ย.58 และมีโอกาส 50% ที่จะปรับดอกเบี้ยขึ้นในเดือน ก.ย.58 แต่โอกาสสูงสุด 70–80% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.58

นอกจากนี้คาดว่าธนาคารยุโรป (ECB) จะยังทำการซื้อสินทรัพย์ประเภทพันธบัตร หรือ QE จนกระทั่งเดือนกันยายน 59 และมีโอกาสทำต่อเนื่องนานกว่านั้น นอกจากนี้ยังมองว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ ECB จะอยู่ในช่วงกลางปี 61

“ช่วงสั้นตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีการฟิ้นตัว เนื่องจากค่าเงินดอลล่าห์ได้สะท้อนเรื่องผลต่างอัตราดอกเบี้ยของ US และ EURO ไปแล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลกมีโอกาสประสบกับวิกฤติเงินทุนไหลออกเหมือน QE Tapering ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางปี 56 อีกครั้งในกลางไตรมาส 2 ประกอบกับวิกฤติทางด้านยุโรปอาจจะปะทุอีกครั้งหนึ่ง และอาจจะเป็นจุดต่ำสุดของตลาดหุ้นทั่วโลก ในขณะที่ EPS ของตลาดหุ้นไทยยังถูก Downgrade แต่มองว่าเป็นโอกาสที่นักลงทุนจะเข้าทำการสะสมหุ้นในกลางไตรมาส 2 อีกครั้ง เนื่องจากการที่เฟดเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยไปสู่ช่วงปลายปี ราคาน้ำมันมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 58 ทำให้หุ้นมีโอกาส Rally อีกครั้งในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของสภาพคล่องทั่วโลก ในขณะที่จีนเริ่มมีมาตรการการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น เป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้คคาดว่าอยู่ที่ 1,680–1,700 จุด ที่ระดับ P/E ประมาณ 14.3เท่า"นายวิศิษฐ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ