บริษัทคาดจะมีเม็ดเงินใหม่เข้ามาใน AUM เพิ่มขึ้นราว 13,000 ล้านบาท และจะมีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ขยับขึ้นเป็นอันดับ 12 จากปีก่อนอยู่ในอันดับ 17 ซึ่งในปีนี้บริษัทมีแผนออกกองทุนใหม่ 7 กองทุน ซึ่งในเดือน ก.พ.เปิดขายไปแล้ว 1 กองทุน คือ กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี แดลี่ พลัส เน้นลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ มูลค่า 3,600 ล้านบาท และวันนี้ออกกองทุนซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิลโกลบอล บาลานซ์ อีก 1 กอง มูลค่า 3,000 ล้านบาท
ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะออกกองทุนเพิ่มอีก 4-5 กองทุน มูลค่ารวมราว 5,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกองตราสารหนี้และตราสารทุน โดยมองโอกาสการลงทุนในอาเซียนและแถบยุโรป
"ส่วนใหญ่เราจะออกกองตราสารหนี้และตราสารทุน เราอยู่ในช่วง conservative ขณะที่การออกกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในช่วงนี้ยังไม่มีแผน ส่วนกอง Trigger Fund ก็เป็น product ที่ดีจับจังหวะการลงทุนระยะสั้นแต่เรายังไม่สนใจ"นายจุมพล กล่าว
นายจุมพล กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย(SET Index)ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะมีโอกาสแตะ 1,600-1,700 จุดช่วงครึ่งหลัง ภายใต้คาดการณ์ผลกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโต (EPS growth) ที่ 15-16% ขณะที่มองกรอบล่างของดัชนีปีนี้ 1,500 จุด ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนดัชนีหลักๆ มาจากการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐที่คาดจะเร่งตัวมากขึ้นในครึ่งหลัง ส่วน QE ยุโรปคงยังไม่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ เพราะค่า P/E สูงไปถึง 15-16 เท่า เทียบกับภูมิภาคที่อยู่ในระดับ 12 เท่า
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้เป็นช่วงของการปรับฐาน แต่จะกระเตื้องในครึ่งปีหลัง ขณะที่ประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ระดับ 3.3-3.5% ในภาวะที่หนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูงยังกดดัน จึงแนะนำลงทุนในไทยน้อยกว่าต่างประเทศ ในประเทศแนะนำลงทุนหุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้างที่จะเติบโตตามโครงการลงทุนของภาครัฐ กลุ่มโทรคมนาคมที่จะได้รับผลดีจากการประมูล 4G ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มองเป็นกลาง เพราะอัตราดอกเบี้ยปรัลบลดลง ส่วนกลุ่มที่น่ากังวล คือ กลุ่มปิโตรเคมี และกลุ่มน้ำมัน
"หุ้นไทยระยะนี้ก้ำกึ่ง Potential growth ไม่ชัด ดัชนีไม่น่ากระดก คงปรับขึ้น-ปรับลงตามภาวะ ปัจจัยภายนอกการส่งออกก็ยังไม่ดีเท่าไร กรอบล่างที่มอง 1,500 จุด ส่วนหนึ่งมองว่านักลงทุนยังเข้าใจว่าปีนี้จะมีเลือกตั้ง ถ้าเลื่อนออกไปอีกไตรมาส หรือถ้าไม่เลือกตั้ง หรือไม่ชัดเจน ก็คงผิดหวังกัน ขณะที่ Fundamental ไม่ถูกแล้ว การใช้จ่ายของภาครัฐก็ยังไม่ชัด ช่วงนี้ตลาดหุ้นจึงเป็นลักษณะการรอ ถ้าขึ้นก็ขาย-ลงก็ซื้อ มองจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่เรื่องเลือกตั้งและการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐ"นายจุมพล กล่าว