การบริหารพอร์ตการลงทุน ผู้จัดการกองทุนและฝ่ายวิจัย จะคัดเลือกหุ้นและเน้นลงทุนเป็นรายตัวที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ประกอบกับการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ในช่วงที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีความผันผวนสูง ซึ่งบริษัทได้ใช้สถานการณ์ดังกล่าวเป็นโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุน จึงส่งผลให้กองทุนสามารถสร้างผลตอบแทนให้ถึงเป้าหมายก่อนกำหนด แม้ว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ จะปรับตัวลงก็ตาม
ในช่วงเวลานี้ บริษัทเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการหาจังหวะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากดัชนีปรับตัวลดลงประมาณ 5.41% บริษัทจึงเปิดจำหน่ายกองทุนเปิดกรุงไทย5%ทริกเกอร์ ฟันด์ 5 ( KTIG5-5) เสนอขายตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 26 มีนาคม 2558 มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท เงินลงทุนขั้นต่ำ 10,000 บาท มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน ตราสารหนี้ เงินฝาก และ/ หรือ ลงทุนในหลักทรัพย์ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนด หรือให้ความเห็นชอบให้ลงทุนได้ โดยผู้จัดการกองทุนจะปรับสัดส่วนการลงทุนได้ในสัดส่วนตั้งแต่ 0 -100% ของมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ในแต่ละขณะ
กองทุน KTIG5-5 ไม่กำหนดอายุโครงการ บริษัทจะเลิกโครงการโดยอัตโนมัติ เมื่อหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.5555 บาท เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันขึ้นไป และทรัพย์สินของกองทุนที่จะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ จะต้องเป็นเงินสด หรือเทียบเท่าเงินสดทั้งหมด หลังจากนั้นบริษัทจะสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งหมดไปยังกองทุนเปิดกรุงไทยสะสมทรัพย์ หรือกองทุนรวมตลาดเงินอื่นที่บริษัทเปิดให้สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน โดยมูลค่าหน่วยลงทุนที่คืนให้กับผู้ถือหน่วยต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ105ของมูลค่าที่ตราไว้ที่ 10 บาท หากกรณีที่ไม่เกิดเหตุการณ์ที่มูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้เลิกกองทุนภายใน 6 เดือน นับจากวันจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวม บริษัทจะเปิดทำการรับซื้อคืนหน่วยลงทุนทุกวันทำการ และหากในวันใดวันหนึ่งราคาหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10.5555 บาท เป็นเวลา 3 วันทำการติดต่อกันขึ้นไป บริษัทจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ พร้อมสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนทั้งหมดไปยังกองทุนเปิดกรุงไทยสะสมทรัพย์
ในช่วงเวลานี้ เป็นจังหวะที่ดีสำหรับโอกาสในการสร้างผลตอบแทนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เนื่องจาก ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ มีการปรับตัวลดลง เกิดจากความกังวลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่อาจจะส่งผลให้มีเงินทุนไหลออก รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานที่กดดันต่อมูลค่าของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเกิดจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงแรง ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาส่งผลให้ P/E ของตลาดปรับตัวสูงขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่กดดันภาพรวมของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ในช่วงที่ผ่านมา ถึงแม้ว่า P/E ของตลาดจะอยู่ในระดับสูง แต่ยังคงมีหลักทรัพย์หลายตัวที่ผลประกอบการในปีทีผ่านมามีการเจริญเติบโต และมีศักยภาพที่จะเติบโตในปีนี้และปีหน้า ภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทยทางด้านอุปสงค์ในประเทศเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 พร้อมทั้งแรงกระตุ้นจากทางภาครัฐที่เริ่มชัดเจนขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ QE จากทางยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทยไทยที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน ( กนง.) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ที่ผ่านมา ล้วนเป็นปัจจัยช่วยส่งเสริมให้เงินทุนไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ อยู่ที่ 1,680 จุด