"หม่อมอุ๋ย"หนุนลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ 3-4 หมื่นลบ.เปิดให้เอกชนเข้าร่วม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 23, 2015 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า การดำเนินการจัดทำศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ (IDC) ใหม่เพื่อเป็นศูนย์เครือข่ายรวบรวมข้อมูลทุกด้านที่ทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จากปัจจุบันที่แต่หน่วยงานทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 112 แห่งต่างลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์กันเอง ดังนั้น จึงให้หยุดการลงทุนและให้รวบรวมโครงการไว้ด้วยกัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น จะออกแบบดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่ และคาดว่าจะใช้วงเงินลงทุน 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 10 เดือนและเปิดใช้งานได้ภายในปี 59
"เราจะเปิดให้เอกชนมาลงทุน แล้วเราก็ไปเช่าต่อ เราจะเข้าไปบริหารข้อมูลเอง"รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในงานสัมนาก้าวสู่ Digital Government ภายใต้ Digital Economy"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ม.ร.ว.ปริดิยาธร กล่าวว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ มีความจำเป็นมากสำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะทำให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาล ขณะเดียวกันภาครัฐต้องการใช้งานของภาครัฐไปกระตุ้นให้เกิดการลงทุนธุรกิจของเอกชน แต่ปัจจุบันยังมีผู้ใช้บริการไม่มากและแต่ละแห่งไม่ได้มีการเชื่อมต่อระบบกัน ดังนั้น ภาครัฐต้องสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดพื้นที่ขนาดใหญ่ มีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้ใช้รายใหญ่เพื่อกระตุ้นความต้องการโดยรวม ต่อจากนี้จะทั้งภาครัฐและเอกชนจะไม่มีการลงทุนซ้ำซ้อน

"คาดว่าภายในปีนี้ประชาชนจะเข้าใช้บริการกว่า100 บริการโดยไม่ต้องใช้สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านไปติดต่อราชการอีกแล้ว โดยจะห้ามเจ้าหน้าที่ไม่ให้เรียกร้องสำเนาจากบัตรประชาชน แต่เขาต้องใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล วันนี้กระทรวงมหาดไทยก็เริ่มแล้ว...ทุกสมาคมวิ่งเข้ามาหาผม เขาอยากค้าขาย E-commerce "รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ ในปีนี้มีเป้าหมายเชื่อมโยงข้อมูลหรือฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องระหว่างหน่วยงานราชการ นำร่อง 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เชื่อมโยงเข้ารับข้อมูลทะเบียนราษฎร์ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เพื่อลดการขอสำเนาเอกสารราชการจากผู้ขอรับบริการ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า รัฐบาลต้องการให้เกิดบรอดแบนด์แห่งชาติในช่วง 2 ปีนี้ โดยในปี 59 จะต้องมีบริการบรอดแบนด์ครอบคลุมทุกจังหวัด และในปี 60 จะสามารถใช้ได้ทุกตำบล โดยจะเชิญชวนทั้งภาครัฐและเอกชนที่เป็นเจ้าของไฟเบอร์ออพติคนำมารวมกัน เพื่อจะได้รู้ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีเครือข่ายอย่างไร มีความยาวเท่าใดแล้ว ซึ่งต้องใช้เวลาในการรวบรวมและตกลงเจรจาในการนำมารวมกัน โดยเฉพาะขั้นตอนการตีมูลค่าสินทรัพย์เพื่อแลกเปลี่ยนการนำสินทรัพย์ทั้งเสา, ไฟเบอร์ออพติคที่นำมารวมกัน คาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน

จากนั้นจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อให้โครงข่ายกระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งยังต้องรอผลประเมินก่อน โดยจะมีการจัดตั้งบริษัทกลางเข้ามาดูแลบรอดแบนด์แห่งชาติ ส่วนแหล่งเงินลงทุนเห็นว่าไม่เป็นปัญหา รัฐอาจใช้เงินกู้ หรือระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

"ภายในปีนี้ บริษัทที่เขาสมัครใจเข้ามารวมกัน จะรู้ว่ามีสายไฟเบอร์ออพติคกี่สาย กี่กิโลเมตร แล้วจะมาคำนวณว่าจะต้องลงทุนเพิ่มอีกเท่าไร เราตั้งเป้าว่าในปี 59 บรอดแบนด์ใช้ได้ทั่วประเทศ และใช้ได้ทุกตำบลในปี 60" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ด้านนายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า รัฐบาลนี้มองเห็นอนาคตและต้องการนำประเทศไทยก้าวสู่สังคมที่มั่นคงและแข่งขันกับประเทศอื่นๆในระดับเวทีโลก ดังนั้น การลงทุนด้วยการเปลี่ยนแปลงทุกด้านจำเป็นต้องเกิดขึ้น ภาคราชการต้องร่วมมือกันพัฒนาภาครัฐในภาพรวมให้ก้าวไปสู่การเป็น Digital Government ด้วย โดยรัฐบาลได้มอบหมายสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์กรมหาชน)เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนในด้านนี้

ภารกิจเร่งด่วน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การบูรณาการศูนย์ข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐใช้ทรัพยากรร่วมกัน ลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ 2. การบูรณาการข้อมูลบริหารสำหรับศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้มีระบบรายงานเพื่อใช้ในการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศที่ทันสมัยใช้ในการติดตามการดำเนินงาน และ 3.บูรณาการการให้บริการประชาชน โดยลดสำเนาเอกสารราชการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน แต่ใช้ฐานข้อมูลผ่านสมาร์ทการ์ด หรือบัตรประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ