"เราจะขยายธุรกิจโดยการลงทุนทั้งในไทยและภายนอกประเทศ โดยในประเทศที่จะรับซื้อโซลาร์สหกรณ์ 800 เมกะวัตต์ เรามีความพร้อมทางการเงินที่จะเข้าไปลงทุนไม่เกิน 200 เมกะวัตต์ เราวางไว้ภายใน 5 ปีจะมีกำลังการผลิตราว 500 เมกะวัตต์"นางสาววันดี กล่าว
สำหรับการเข้าลงทุนในโครงการโซลาร์สหกรณ์นั้น SPCG จะเข้าร่วมกับสหกรณ์ ซึ่งหากสหกรณ์นั้นไม่มีพื้นที่เองก็จะร่วมกันซื้อที่ใหม่เพื่อยื่นข้อเสนอต่อภาครัฐ โดยขณะอยู่ระหว่างรอประกาศการรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมหลังจากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ร่างระเบียบออกมาแล้ว ส่วนการลงทุน 200 เมกะวัตต์คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 12,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินกู้เป็นส่วนใหญ่ และในส่วนเงินทุนน่าจะใช้ 25% ปัจจุบันบริษัทมีเงินสดอยู่ราว 3,000 ล้านบาท เชื่อว่าเพียงพอแก่การลงทุน
นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสนใจที่จะเข้าลงทุนในส่วนของโครงการโซลาร์ฟาร์มค้างท่อที่รัฐบาลจะประกาศจำนวนเมกะวัตต์รับซื้อใหม่ที่ชัดเจนออกมาในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ด้วย
รวมถึงบริษัทยังอยู่ระหว่างการจัดหาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศ โดยอยู่ระหว่างการทำตรวจสอบสินทรัพย์ (due diligence) ขนาด 150 เมกะวัตต์ในญี่ปุ่น คาดว่าจะใช้เงินสดลงทุนทั้งจำนวน นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในฟิลิปปินส์ขนาด 100-200 เมกะวัตต์ และโครงการในเมียนมาร์ด้วย แต่หากการลงทุนในโซลาร์สหกรณ์ในไทยให้ผลตอบแทนดีกว่าก็อาจจะยังไม่เห็นการลงทุนในต่างประเทศมากนักในช่วงนี้
"เราต้องเทียบผลตอบแทนในประเทศที่กำลังจะเปิด 800 เมกะวัตต์ด้วย ถ้าผลตอบแทนดีกว่า ก็เลือกลงทุนอันนั้นน้อย ฟิลิปปินส์ก็รอ 2-3 เดือนเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยคงประกาศออกมาหมดแล้ว...เม็ดเงินเรามีจำกัด ปัญหาคือ 800 เมกะวัตต์ให้ COD (ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์) บางส่วนในปีนี้ และ ปี 59 บางส่วน เวลามันน้อยมาก เราต้องเลือกอะไรได้เงินมากสุดกับผู้ถือหุ้น"นางสาววันดี กล่าว
ทั้งนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ.2558 จำนวนรวม 800 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในวันที่ 30 มิ.ย.59 โดยมีปริมาณรับซื้อที่กำลังการผลิตติดตั้งไม่เกิน 5 เมกะวัตต์ ต่อ 1 โครงการ สัญญา 25 ปี ที่ราคารับซื้อไฟฟ้า(FiT) 5.66 บาท/หน่วย