ทั้งนี้ ให้ ทอท.นำเสนอ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) พิจารณาเห็นชอบก่อนลงนามสัญญา ซึ่งบริษัทจะต้องดำเนินการติดตั้งระบบภายใน 4 เดือนคาดว่าจะเปิดให้บริการที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ระบุว่า ระบบ APPS จะช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบผู้โดยสารลงจาก 40 วินาที – 1 นาทีต่อคนลงเหลือ 15-20 วินาทีต่อคน ซึ่งจะทำให้ลดความแออัดและการรอคิวลงได้ และจะต้องเร่งทยอยติดตั้งระบบกับอีก 5 สนามบินของทอท.ต่อไป
นายประสงค์ กล่าวว่า หลังจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)และ คตร.ได้เข้ามาตรวจสอบ การประมูลระบบ APPS ซึงมีผู้ยื่นซอง 2 ราย คือ บมจ.ล็อกซเลย์ (LOXLEY) และ 2S CONSORTIUM โดยมีเงื่อนไจให้ ทอท.เจรจาต่อรองราคาให้ลดราคาลงไม่ต่ำกว่า 10% จากราคา 32 บาท/คน/เที่ยวบิน โดยผู้แทน คตร.และ สตง.เข้าร่วมสังเกตการณ์การเปิดซองราคาด้วย
การเปิดซองคุณสมบัติปรากฏว่าระบบ SITA ของ 2S CONSORTIUM สามารถตรวจสอบประวัติได้แบบ real time จึงได้คะแนนเทคนิคสูงกว่า โดยเสนอราคา ที่ 33 บาท/คน/เที่ยวบิน ส่วนระบบ ARINC ของ ล็อกซเลย์ ต้องใช้เวลา 30 นาที เสนอราคา 30 บาท/คน/เที่ยวบิน ซึ่งตามทีโออาร์กำหนดให้นำคะแนนเทคนิคและราคารวมกัน ปรากฏว่า 2S CONSORTIUM ได้คะแนนสูงกว่า จึงเจรจาต่อรองจนกระทั่วลดราคาลงเหลือ 27.50 บาท /คน/เที่ยวบิน ต่ำกว่าราคากลางที่ 32 บาทหรือประมาณ 14.06%
“อัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้โดยสารที่คณะกรรมการการบินพลเรือน(กบร.) กำหนดกรอบไว้ 50 บาทต่อคน โดยก่อนหน้านี้ทอท.กำหนดราคากลางไว้ที่ 37 บาท (รวมค่าบริการของตม. ที่5 บาท) แต่ได้จัด 5 บาทออก เหลือราคากลาง 32 บาท ซึ่งหากทางตม.มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในการให้บริการสามารถขอตั้งงบประมาณเพิ่มเติมได้เนื่องจากถือเป็นการให้บริการของหน่วยงานราชการ”นายประสงค์กล่าว
นอกจากนี้ คณะกรรมการ ทอท.ยังเห็นชอบโครงการส่งเสริมการเพิ่มเครือข่ายการบินภายในประเทศ ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และท่าอากาศยานหาดใหญ่ โดยจะให้ส่วนลด ค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน (Landing Fee) ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee) ค่าเช่าห้องเพื่อใช้เป็นสำนักงาน เงินโบนัสเพื่อส่งเสริมการขาย และเงินสนับสนุนการทำการตลาดเส้นทางบินใหม่
การกำหนดคืนส่วนลดต่างๆ พร้อมทั้งเงินโบนัสเพื่อส่งเสริมการขาย และเงินสนับสนุนการทำการตลาดเส้นทางใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2560 เพื่อจูงใจสายการบินต่างๆ ให้ปิดให้บริการจากสนามบินเชียงรายและหาดใหญ่ไปยังจังหวัดในภูมิภาค ซึ่งขณะนี้มีสายการบินไทยแอร์เอเชียให้ความสนใจในการเปิดเส้นทางบินเพิ่ม ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ทั้ง 2 สนามบิน ซึ่งปัจจุบันมีขีดความสามารถเหลือ โดยสนามบินเชียงรายมีผู้โดยสารประมาณ 1.2 ล้านคนต่อปีขณะที่รองรับได้ 3-5 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินหาดใหญ่ มีผู้โดยสาร 2.9 ล้านคนต่อปีขณะที่มีขีดความสามารถรองรับได้ถึง 5 ล้านคนต่อปี