โดยในฤดูการผลิตปัจจุบัน ผลผลิตน้ำตาลต่อตันต่ออ้อยของบริษัทอยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศ หรือ 115 กก./ตันอ้อย อีกทั้งยังมีผลพลอยได้ที่เป็นกากน้ำตาลเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าเพิ่มเป็น 80,000 ตันจากปีก่อน ที่มีปริมาณอยู่ที่ 70,000 ตันอีกด้วย
นอกจากนี้ ในปีนี้ รับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 2 หรือ โรงไฟฟ้าบุรีรัมย์เพาเวอร์ ที่มีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และ BRR ทำสัญญาพร้อมจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ จำนวน 8 เมกะวัตต์ ให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรูปแบบ FiT ซึ่งมีราคารับซื้อไฟฟ้าต่อหน่วยสูงขึ้นจากเดิม 3.60 บาท เป็น 4.53 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 0.93 บาทต่อหน่วย ได้ในเดือน เม.ย.นี้
"เรามั่นใจว่าปีนี้จะเป็นปีที่ BRR เติบโตได้แบบก้าวกระโดดซึ่งมาจากฐานธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายที่เรามีผลผลิตน้ำตาลทรายที่มากขึ้น และต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง อีกทั้งยังสามารถสร้างเม็ดเงิน รายได้และกำไรที่แข็งแกร่งจากธุรกิจพลังงานทดแทนอีกด้วย"นายอนันต์ กล่าว
นายอนันต์ กล่าวว่า ในปีนี้ บริษัทมีเป้าหมายต้องการดันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มเป็น 10% ของรายได้รวมปีนี้ หรือคิดเป็นรายได้ 450 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งแรก 200 ล้านบาท และโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 2 อีก 250 ล้านบาท ขณะที่สัดส่วนกำไรสุทธิจากธุรกิจพลังงานทดแทน จะเพิ่มเป็น 30% จากเดิมที่มีสัดส่วนกำไรอยู่ที่ 20%
บริษัทคาดว่าในช่วง 3 ปีจากนี้ไปบริษัทจะมีการพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานทดแทนต่อเนื่อง และจะทำให้สัดส่วนกำไรสุทธิจากธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นมาเป็น 50%
นายอนันต์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแห่งที่ 3 ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุน 600 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าแล้วเสร็จปี 58 และสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในช่วง ก.พ.-มี.ค. 59
นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 2 ราย เพื่อเข้าร่วมลงทุนผลิตเอทานอล ขนาดกำลังการผลิต 1.5 แสนลิตร/วัน คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งสัดส่วนการลงทุนและพันธมิตรในเดือน พ.ค.นี้ เบื้องต้น โครงการผลิตเอทานอลดังกล่าว มีมูลค่าการลงทุนประมาร 500-600 ล้านบาท และจะนำกากที่เหลือนำไปผลิตไบโอแก๊ส ซึ่งบริษัทจะนำไปผลิตไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์