สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1/58 คาดจะดีกว่าไตรมาส 1/57 ที่มีรายได้ 121.11 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 5.71 ล้านบาท เพราะการส่งมอบงานไม่มีการเลื่อนเหมือนช่วงเดียวกันของปีก่อน
"บริษัทมีความพร้อมทั้งด้านของบุคลากรและด้านเครื่องจักร ที่จะผลักดันให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงสุดและทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้"นายพูลพิพัฒน์ กล่าว
ขณะที่กำไรสุทธิปีนี้คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนที่มีกำไร 55 ล้านบาท เนื่องจากปีนี้มีรายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งรายได้ของบริษัทจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันได โดยปกติไตรมาส 1 จะต่ำสุดตามการส่งมอบงาน จากนั้นจะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ไตรมาส 3 และเมื่อถึงไตรมาส 4 ส่งมอบงานได้มาก เชื่อว่าจะทำให้มีกำไรกลับมา และยังได้คำสั่งซื้อหม้อแปลงจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มั่นใจว่าจะทำรายได้แตะ 1,000 ล้านบาทตามเป้าหมาย
สัดส่วนรายได้เป็นในประเทศ 80% ต่างประเทศ 20% (ในประเทศแบ่งเป็นงานภาครัฐ 30% เอกชน 35%)
ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการยื่นประมูลงานใหม่ของ กฟภ.มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท คาดรู้ผลภายในไตรมาส 2/58 หรืออีกไม่เกิน 2 เดือน นอกจากนี้ เตรียมแผนจะยื่นประมูลงานของการไฟฟ้านครหลวงด้วย (กฟน.) ซึ่งปกติ กฟน.จะเปิดประมูลงานมูลค่ารวมปีละ 1,800-1,900 ล้านบาท บริษัทก็จะเข้าร่วมประมูล
นายพูลพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า บริษัทยังมีแผนรองรับการผลิตเพิ่ม โดยได้ลงทุนขยายกำลังการผลิต ตั้งแต่ ปี 56 จนถึง 57 ปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่พร้อมรับยอดขายได้เพิ่มถึงระดับ 1,500 ล้านบาทแล้ว ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการขยายศักยภาพกำลังการผลิตในข้างต้น จะส่งผลให้บริษัทมีความสามารถในการรองรับงานใหม่ที่จะเข้ามาเพิ่มขึ้นในอนาคต
สำหรับกลยุทธ์ในการขยายตลาดหม้อแปลงไฟฟ้านั้น บริษัทเตรียมแผนขยายกลุ่มลูกค้าเอกชน และกลุ่มส่งออก โดยบริษัทได้ขยายกลุ่มลูกค้าส่งออกไปที่ประเทศญี่ปุ่น ได้รับอานิสงค์จากแผนโครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ทำให้บริษัทมีโอกาสที่จะส่งออกหม้อแปลงไฟฟ้าไปยังประเทศญี่ปุ่นเพื่อรองรับความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้า
ปัจจุบัน ลูกค้าของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ กลุ่มรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ, กลุ่มเอกชน และกลุ่มส่งออก ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้จากงานภาครัฐประมาณ 30-35% งานภาคเอกชนประมาณ 40-50% งานส่งออกประมาณ 15-20% และงานบริการประมาณ 15-20%
สำหรับการแข่งขันอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าในปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยได้รับแรงส่งของการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ การลงทุนภาครัฐจากโครงการรถไฟฟ้าสีต่างๆ รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่สูงขึ้น จะส่งผลให้อุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าเติบโตขึ้นจากปีก่อน