ขณะที่คาดว่าจะรับรู้ปันผลกว่า 100 ล้านบาทจากการลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกในญี่ปุ่นขนาด 60 เมกะวัตต์ในช่วงครึ่งหลังของปี 59
"ไตรมาสแรกแนวโน้มดีมาก เรากลั่นน้ำมันได้เยอะเป็นประวัติการณ์ที่ใกล้ๆระดับ 1.1 แสนบาร์เรล/วัน ค่าการกลั่นก็อยู่ในระดับสูง ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ยอดขายผ่านสถานีบริการดีขึ้น"นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ BCP กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การกลั่นน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/58 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากยอดขายน้ำมันผ่านสถานีบริการน้ำมันของบางจากฯที่เติบโตขึ้นเป็นตัวเลขสองหลัก มากกว่าตลาดรวมที่เพิ่มขึ้นราว 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเหตุการณ์ทางการเมือง ประกอบกับ ราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้มีผู้ใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นด้วย
ทั้งนี้ ยอดการใช้น้ำมันในไตรมาส 1/58 พบว่าแก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่ E20 และ E85 ชะลอตัวลง เนื่องจากส่วนต่างราคาไม่มากนักหลังราคาเอทานอลในตลาดสูงกว่าราคาเนื้อน้ำมัน ซึ่งส่วนต่างระหว่างราคา E85 และกลุ่มน้ำมัน E10 (แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91) ควรอยู่ระดับ 25-30% แต่ปัจจุบันมีส่วนต่างเพียง 10-20% เท่านั้น จึงไม่จูงใจให้เกิดการใช้
อย่างไรก็ตาม BCP ยังคงเดินหน้าเพิ่มหัวจ่าย E85 ในสถานีบริการน้ำมัน โดยมีเป้าหมายที่ 300 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 208 แห่ง แต่ถือว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนมากนักในขณะนี้
แผนงานของบ BCP ยังคงเน้นการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายจะใช้เงินลงทุนราว 2.3-2.4 หมื่นล้านบาทในช่วง 6 ปี(ปี 58-63) คิดเป็นเงินลงทุนราวปีละ 4 พันล้านบาท ล่าสุดบริษัทได้ร่วมลงทุนกับบริษัท เชาว์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่โดยบางจากฯถือหุ้น 70% และเชาว์ อินเตอร์ฯถือหุ้น 30% โดยบริษัทร่วมทุนจะเข้าไปลงทุนในหน่วยลงทุนที่เรียกว่า GKTK ในญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นผู้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประเภทโซลาร์ฟาร์ม ในเมือง MUBARA ขนาด 60 เมกะวัตต์
ขณะนี้โครงการดังกล่าวได้รับใบอนุญาตแล้วและอยู่ระหว่างการหากลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะใช้เวลากว่า 10 เดือนในการดำเนินการก่อนจะเปิดการผลิตไฟฟ้าต่อไป คาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะให้เงินปันผลกลับมากว่า 100 ล้านบาท/ปี ซึ่งจะเริ่มเข้ามาในช่วงครึ่งหลังปี 59 โครงการดังกล่าวมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนเกินกว่าระดับ 15% และบริษัทมีแผนจะมีกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นที่ระดับ 100 เมกะวัตต์ในอนาคต
นอกจากนี้บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนใหม่ๆในกลุ่มพลังงานทดแทน ทั้งร่วมกับกลุ่มสหกรณ์ที่ปัจจุบันมีความร่วมมือในการทำสถานีบริการร่วมกันราว 600 แห่งทั่วประเทศ และเสนอเข้าร่วมโครงการโซลาร์ฟาร์มในส่วนของหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร(โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการ) จำนวน 50 เมกะวัตต์ จากที่ภาครัฐจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 800 เมกะวัตต์ พร้อมทั้งสนใจทำโรงไฟฟ้าชีวมวลร่วมกับกลุ่มสหกรณ์ในอนาคตด้วยเพื่อให้องค์กรสหกรณ์มีความแข็งแกร่งมากขึ้นในอนาคต
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจไบโอดีเซลยังอยู่ระหว่างการขยายกำลังการผลิตอีก 4.5 แสนลิตร/วัน เป็น 8.1 แสนลิตร/วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 59 ขณะที่ปริมาณการใช้ไบโอดีเซลของบริษัทอยู่ที่ระดับ 4-5 แสนลิตร/วัน ส่วนที่เหลือก็จะจำหน่ายให้กับรายอื่น รวมถึงธุรกิจเอทานอลก็ถือหุ้นใน 2 โรง ซึ่งโรงงานเอทานอลของบริษัท สีมาอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด ที่ BCP ถือหุ้นอยู่ 85% คาดว่าจะเริ่มผลิตใน 1-2 เดือนข้างหน้า กำลังการผลิต 1.5 แสนลิตร/วัน
พร้อมกันนั้น ยังมองหาโอกาสการเข้าซื้อแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยด้วย โดยอยู่ระหว่างรอราคาและเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันลงก็เป็นโอกาสสำหรับบริษัทที่มีสภาพคล่องดี ส่วนการลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่โปรแตซ ที่ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 11.45% ในบมจ.เหมืองแร่โปรแตซอาเซียน นั้น ก็มีแนวโน้มที่จะขายออกไป แต่ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนในขณะนี้
"นโยบายเราจะเน้นเรื่อง renewable โรงไฟฟ้า และพวกแหล่งเชื้อเพลิงต่างๆ ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เรื่องโปรแตซก็ทิ้งไว้ท้ายๆ"นายชัยวัฒน์ กล่าว