อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเชี่ยวชาญในธุรกิจหลักของธนาคาร อันได้แก่ ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และธุรกิจตลาดทุน อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงแหล่งรายได้ที่มีการกระจายตัวมากขึ้นและเงินกองทุนที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนจากการมีส่วนแบ่งทางการตลาดขนาดเล็ก รวมถึงต้นทุนทางการเงินที่สูง และคุณภาพของสินเชื่อที่ถดถอยลง ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและความซบเซาของยอดขายรถยนต์ภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจจำกัดการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร
การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารเป็น “Stable" หรือ “คงที่" จาก “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินที่อ่อนแอลงจากความเสื่อมถอยของคุณภาพสินเชื่อ ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลง รวมทั้งโอกาสของตลาดรถยนต์และตลาดเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทยที่มีจำกัด แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนการคาดการณ์ว่าธนาคารจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรและเงินกองทุนไว้ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
สถานะเครดิตของธนาคารอาจได้รับผลกระทบในทางลบหากความสามารถในการทำกำไรยังคงลดลงอันเป็นผลจากพอร์ตสินเชื่อที่หดตัว หรือต้นทุนด้านเครดิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อถดถอยลง ในทางตรงข้าม สถานะเครดิตในทางบวกสำหรับธนาคารจะเกิดขึ้นได้หากธนาคารได้ประโยชน์จากการผสานพลังร่วมในกลุ่มโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นและมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานะเครดิตในทางบวกยังไม่น่าเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันใกล้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนแอ
KKP มีสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับ 11 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 17 แห่ง ณ เดือนธันวาคม 2557 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 1.8% และเงินรับฝากที่ 1.2% ทั้งนี้ ธนาคารได้รวมกิจการกับ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) ในปี 2555 ตามแผนกลยุทธ์การเติบโต และได้ตั้งชื่อเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (กลุ่ม เกียรตินาคินภัทร) การรวมกิจการในครั้งนี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในธุรกิจตลาดทุน
ทั้งนี้ แหล่งรายได้ของธนาคารมีการกระจายตัวมากขึ้น โดยมีรายได้ค่านายหน้าค้าหลักทรัพย์ ค่าธรรมเนียมในธุรกิจวาณิชธนกิจ และกำไรจากการค้าหลักทรัพย์เป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจตลาดทุนสร้างกำไรให้แก่กลุ่มธนาคารในสัดส่วนที่มากกว่าธนาคารอื่น ดังนั้น ผลการดำเนินงานของธนาคารจึงอาจมีความอ่อนไหวต่อความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดทุนได้สูงกว่าของธนาคารอื่น
ธนาคารมีความเสี่ยงในการกระจุกตัวของสินเชื่ออันเป็นผลจากกลยุทธ์ที่เน้นในตลาดเฉพาะกลุ่ม ณ เดือนธันวาคม 2557 ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อขนาดใหญ่ 2 กลุ่ม ได้แก่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ (70% ของสินเชื่อรวม) และสินเชื่อโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (19%) นอกจากนี้ ธนาคารยังมีสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อจะได้ผลตอบแทนที่มากเพียงพอต่อต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงด้วย ธนาคารมีความเสี่ยงด้านเครดิตในสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้ว (คิดเป็นสัดส่วน 45% ของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์) รวมทั้งสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และสินเชื่อการค้าในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้ สินเชื่อกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับกลางถึงสูง และอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของธนาคารได้หากเศรษฐกิจทรุดตัวลง
พอร์ตสินเชื่อของธนาคารขยายตัวอย่างรวดเร็วด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ย 19% ในช่วงปี 2551-2556 อย่างไรก็ตาม ยอดจำหน่ายรถยนต์ปรับตัวลดลงอย่างมากในปี 2557 เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งยอดจำหน่ายรถยนต์ในช่วงปี 2555-2556 มีอัตราการเติบโตที่สูงผิดปกติอันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ส่งผลให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารหดตัวลง 8% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2557 ธนาคารมีสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับทั้งสิ้น 185.9 พันล้านบาท ลดลง 3% จากเดือนธันวาคม 2556
คุณภาพสินเชื่อของธนาคารถดถอยลงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อด้อยคุณภาพคงค้างเพิ่มขึ้นจาก 4.7 พันล้านบาทในปี 2554 เป็น 10.4 พันล้านบาทในปี 2557 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 5.6% ในปี 2557 เพิ่มขึ้นจาก 3.5% ในปี 2554 ธนาคารได้เริ่มตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญสำหรับลูกหนี้เช่าซื้อโดยใช้วิธีประมาณค่าความเสียหายเป็นกลุ่มลูกหนี้ (Collective Approach) ในปี 2556 ส่งผลให้อัตราส่วนสำรองที่มีต่อสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นจาก 141% ในปี 2555 เป็น 187% ในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองส่วนเกินลดลงเนื่องจากมีสินเชื่อด้อยคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนสำรองที่มีต่อสำรองพึงกันลดลงมาเป็น 158% ณ สิ้นปี 2557
ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในปี 2557 ลดลงอันเป็นผลจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนด้านเครดิต อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยลดลงจาก 1.84% ในปี 2556 เป็น 1.08% ในปี 2557 ธนาคารมีกำไรสุทธิสำหรับปี 2557 จำนวน 2.7 พันล้านบาท ลดลง 40% จากปีก่อน โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 18% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญและค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น 43% และ 12% ตามลำดับ ทางด้านแหล่งเงินทุน ธนาคารพยายามลดต้นทุนทางการเงินโดยการขยายฐานไปยังผู้ฝากเงินรายย่อย อย่างไรก็ตาม ต้นทุนทางการเงินของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่สูงที่สุดในระบบ
ธนาคารมีเงินกองทุนที่สูงเพียงพอต่อแผนการเติบโตและการรองรับความเสียหายที่เกินคาดการณ์จากความเสี่ยงในช่วงเศรษฐกิจขาลง ณ เดือนธันวาคม 2557 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 14.77% และมีอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 15.16% โดยยังคงสูงกว่าอัตราส่วนขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 6.00% และ 8.50% ตามลำดับ