"วันนี้ ดีแทคได้เปิดให้บริการ 4G ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการได้เสร็จสมบูรณ์ตามคำมั่นสัญญาที่ประกาศไว้ โดยได้ส่งมอบโครงข่าย 3G และ 4G ได้มากกว่าเป้าหมาย ด้วยจำนวนโครงข่ายกว่า 6,700 สถานีฐานในกรุงเทพฯและมากกว่า 40 จังหวัดทุกภาคทั่วประเทศ ซึ่งนับเป็นปรากฎการณ์ครั้งสำคัญของดีแทค เพื่อมุ่งมั่นไปให้จุดหมายในการเป็นผู้นำในการให้บริการอินเทอร์เน็ต" นายซิคเว่ กล่าว
นายลาร์ส โอเคะ นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ DTAC เปิดเผยวิสัยทัศน์การดำเนินงานว่า จะมีการขับเคลื่อนดีแทคใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. ตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้ให้บริการ 4G ที่เร็วที่สุดในประเทศไทย และดีที่สุดในอุตสาหกรรม ด้วยแบนวิธที่มากที่สุดถึง 15MHz ภายในสิ้นปี 58 โดยบริษัทฯจะนำเอาคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จากเดิมรองรับการใช้งานในระบบ 2G มารองรับในระบบ 4G
ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างดำเนินการไปยัง CAT เพื่อขออนุญาตนำคลื่นดังกล่าวจำนวน 10 MHz มารองรับการใช้งานในระบบ 4G คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปได้ในช่วงไตรมาส 2/58 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทฯได้นำคลื่นความถี่ 2100 MHz มารองรับการใช้งานในระบบ 4G ด้วยแบนวิธ 5MHz หาก CAT อนุญาตให้นำคลื่น 1800 MHz มาใช้ได้ ก็จะส่งผลให้สิ้นปีนี้ DTAC จะสามารถให้บริการ 4G ด้วยแบนวิธ 15MHz ตามเป้าหมายได้
2.เป็นโครงข่ายการให้บริการ 3G ที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมจำนวนประชากร 95% ของประชากรทั้งหมด ด้วยจำนวนโครงข่ายกว่า 6,700 สถานีฐาน ในกรุงเทพฯและมากกว่า 40 จังหวัดทุกภาคทั่วประเทศ
3.มีฐานลูกค้า 4G ที่มากที่สุด โดยตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านราย ภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้บริการดีแทค 4G แล้วจำนวน 970,000 ราย และมีลูกค้า 60% จากจำนวนลุกค้าทั้งหมดที่ใช้บริการข้อมูล
"ความท้าทายในการเข้ามารับตำแหน่ง CEO ในครั้งนี้ ผมมีเป้าหมายที่จะทำให้ดีแทคเป็น internet provider ที่ดีที่สุดในประเทศไทย และมีการให้บริการที่ดีที่สุด โดยการเพิ่มฐานลูกค้าจึงเป็นความรับผิดชอบ ซึ่งดีแทคจะมีการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมในทุกๆพื้นที่ลงไปยังระดับภูมิภาค เพื่อให้มี activity เกิดขึ้นตอบสนองความต้องการใช้งานของตลาด ประกอบกับเพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้น โดยจะเน้นการออกโปรโมชั่นต่างๆ" นายลาร์ส กล่าว
สำหรับเงินลงทุนบริษัทฯได้ตั้งงบลงทุนรวมปีนี้ไว้จำนวน 14,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มองว่าหากจะใช้เงินลงทุนเพิ่มในส่วนของ 4G บริษัทฯ คงต้องคำนึงถึงผลตอบรับของตลาดก่อน
นายลาร์ส กล่าวต่อว่า ในส่วนการเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900MHz DTAC มีความสนใจที่จะเข้าร่วมการประมูลดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งบริษัทฯได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจาก เทเลนอร์ กรุ๊ป ในการประมูลครั้งนี้ และมีทีมงานที่มีประสบการณ์และมีความพร้อมในการเข้าประมูลเป็นอย่างดี ซึ่งขึ้นอยู่กับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะกำหนดกฎระเบียบและราคาประมูลไว้อย่างไร