โรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ในเฟสแรก ซึ่งมีสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)แล้ว คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ภายในเดือนเม.ย.และแล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟฟ้าในปี 59 ประเมินรายได้ปีละ 300 ล้านบาท โดยมี EBITDA ที่ราว 58% และ ผลตอบแทนการลงทุนราว 32% น่าจะคืนทุนได้ภายใน 4 ปี
ขณะที่บริษัทศึกษาการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในเฟสที่ 2 อีก 40 เมกะวัตต์ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็นราว 50 เมกะวัตต์ ในอนาคต
นายวุฒิชัย ลีนะบรรจง ประธานกรรมการบริหาร UWC เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อร่วมลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศรวม 3-4 โครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าจากขยะ โรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ และโครงการไบโอแมสที่จังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จ.นครศรีธรรมราช ขนาดกำลังการผลิตรวมกัน 90 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการทั้งหมด 4,000 ล้านบาท คาดได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3/58 นี้
โดยหนึ่งในนั้นคือการที่บริษัทกำลังเข้าไปเจรจาเพื่อร่วมลงทุนถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ประเทศลาวขนาด 50-60 เมกะวัตต์ คาดได้ข้อสรุปในไตรมาส 3 นี้ ซึ่งโรงไฟฟ้าแห่งนี้ดำเนินการอยู่แล้ว ถ้าการเจรจาสำเร็จสามารถรับรู้รายได้ทันทีในปีนี้ซึ่งก็จะทำให้ปีนี้เห็นรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าเข้ามาชัดเจนมากขึ้น ส่วนโครงการโซลาร์รอภาครัฐออกกฏระเบียบรวมถึงผลตอบแทนที่ชัดเจน เราก็จะดึงผู้ร่วมทุนทั้งในและต่างประเทศเข้าร่วมลงทุน สำหรับในปี 58 บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมแตะ 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือ(Backlog) 500 กว่าล้านบาท เป็นงานเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งเป็นธุรกิจเดิมของบริษัทจะส่งมอบได้และรับรู้รายได้ปีนี้ 50% หรือ 250 ล้านบาท ที่เหลือรับรู้ในปีถัดไป อีก 700 กว่าล้านบาท เป็นรายได้จากธุรกิจไฟฟ้าที่คาดว่าการเจรจาเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาวจะสำเร็จซึ่งก็จะทำให้มีรายได้เข้ามา และก็จะทำให้ปี 59 รายได้โตก้าวกระโดด โดยคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจไฟฟ้า 70-80% อีก 20-30% เป็นรายได้จากธุรกิจเสาส่งไฟฟ้า
นอกจากนี้ บริษัทกำลังเจรจาร่วมธุรกิจกับพันธมิตรประเทศจีน คือ บริษัทดงฟาง อิเล็คทริค ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงงานรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้า (EPC) หรือติดตั้งระบบ ที่เข้ามาเปิดตลาดในไทยโดยจะเข้ามาในรูป EPC รวมถึงรับติดตั้งระบบด้วย UWC มีโรงงานเสาส่งไฟฟ้าอยู่หรือจะทำ EPC ก็ได้เราก็จะร่วมมือกันรับงานในไทยมากขึ้น เกื้อหนุนในหลายด้าน
สำหรับเม็ดเงินที่จะใช้เพื่อขยายธุรกิจโรงไฟฟ้ามาจากเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ขายหุ้นเพิ่มทุนให้บุคคลเฉพาะเจาะจง(PP)รวมกันราว 1,400 ล้านบาท และยังมีเงินจากการแปลงสิทธิวอร์แรนท์ในระยะ 4 ปีข้างหน้านี้ ขณะเดียวกันเมื่อโรงไฟฟ้าแห่งแรกมีรายได้เข้ามาเราก็จะมีเงินเพื่อขยายธุรกิจและลงทุนต่อในเฟสถัดไป และยังสามารถกู้สถาบันการเงินได้ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าชีวมวลเฟสแรก 9.9 เมกะวัตต์ ที่จะรับรู้รายได้ครึ่งหลังปี 59 โครงการดังกล่าวจะมีรายได้ 300 ล้านบาท/ปี โดนมี EBITDA ที่ราว 58% มีอัตรากำไรสุทธิที่ 20%