ทั้งนี้ อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นในระหว่างปี 2555-2557 ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นจาก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดในภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและรักษาประสิทธิภาพในการจัดเก็บและติดตามหนี้ ตลอดจนคงไว้ซึ่งมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด รวมทั้งรักษาระดับอัตราส่วนโครงสร้างเงินทุน ณ ปัจจุบันเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าธนาคารกรุงไทยจะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจต่อไปด้วย
การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตและหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลประกอบการทางเงินที่ดีกว่าที่คาดไว้ซึ่งสามารถสร้างความแข็งแกร่งโดยรวมทางด้านการเงินให้เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางด้านเครดิตหรือหนี้สูญท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความท้าทายจากแรงกดดันทางด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค
ถึงแม้ว่าโอกาสในการปรับลดลงของอันดับเครดิตและหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า แต่หากมีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการทางการเงินและคุณภาพเครดิตโดยรวมของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้น เช่น ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น หรือคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง เป็นต้น อันดับเครดิตและหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทก็อาจปรับลดลงได้
ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้น 49.45% ในบริษัทบัตรกรุงไทย โดยบริษัทบัตรกรุงไทยจัดเป็นบริษัทร่วมเชิงกลยุทธ์แห่งหนึ่งในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกรุงไทย ภายใต้กฎระเบียบการกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทเป็นบริษัทร่วมซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Non-solo Consolidation ในฐานะที่เป็นบริษัทในกลุ่มของธนาคารกรุงไทย บริษัทมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการขยายฐานลูกค้า รวมถึงเป็นช่องทางการชำระเงินและบริการ บริษัทยังมีการทำการตลาดร่วมกับทางธนาคารกรุงไทยด้วย โดยจำนวนลูกค้าบัตรเครดิตรายใหม่ ๆ ของบริษัทในปี 2557 จำนวนกว่า 40% มาจากสาขาของธนาคารกรุงไทย ซึ่งเพิ่มขึ้น จาก 25% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนจากธนาคารอีกด้วย กล่าวคือ บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อ 18,030 ล้านบาทจากธนาคาร โดยวงเงินดังกล่าวยังไม่มีการเบิกใช้ ณ สิ้นปี 2557
หลังจากวิกฤติอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 บริษัทได้ตัดสินใจโอนงานจัดเก็บและติดตามหนี้กลับมาบริหารเองทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและติดตามหนี้ตั้งแต่ก่อนที่หนี้ปกติจะกลายเป็นหนี้เสียด้วย ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการจัดเก็บและติดตามหนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องดังเห็นได้จากสินเชื่อค้างชำระที่ลดลง ทั้งนี้ อัตราสินเชื่อค้างชำระของบัตรเครดิต (เกิน 90 วัน) ลดลงจาก 5.3% ในไตรมาสแรกของปี 2555 เหลือ 2.2% ณ สิ้นปี 2556 และ 1.7% ณ สิ้นปี 2557 สินเชื่อส่วนบุคคลก็มีอัตราสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ที่ลดลงเช่นกัน โดยลดจาก 4.7% ในไตรมาสแรกของปี 2555 เหลือ 1.5% ณ สิ้นปี 2556 และ 1.2% ณ สิ้นปี 2557 แม้ว่าอัตราสินเชื่อค้างชำระจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่อัตราหนี้สูญตัดบัญชีของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นจาก 7.4% ในปี 2555 มาเป็น 10.3% ในปี 2556 และ 9.4% ในปี 2557 ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวดมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ที่เพิ่มขึ้นจาก 195% ณ สิ้นปี 2555 มาเป็น 293% ณ สิ้นปี 2556 และ 364% ณ สิ้นปี 2557 บริษัทได้เพิ่มค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้สูงขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้บริษัทสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
ในปี 2555 บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการปรับปรุงระบบงานภายในและการควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัทเริ่มกลับมามุ่งเน้นด้านการตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ซึ่งทำให้รายได้ในปี 2556 กลับมาเติบโตหลังจากที่ค่อนข้างนิ่งมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีกำไรสุทธิ (หลังหักรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุน) ในปี 2556 อยู่ที่ 1,037 ล้านบาท เทียบกับ 255 ล้านบาทในปี 2555 บริษัทมีกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2557 โดยมีกำไรอยู่ที่ 1,755 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ในปี 2557 จาก 2.5% ในปี 2556 บริษัทได้เพิ่มการตั้งประมาณการหนี้สินสำหรับคะแนนสะสมแลกของรางวัลอย่างเพียงพอแล้วในช่วงปี 2554 และ 2555 ทำให้ภาระดังกล่าวลดต่ำลงมากตั้งแต่ช่วงปี 2556 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีขึ้นตลอดจนนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังของบริษัทน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับกำไรนี้ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบอยู่บ้างโดยอาจมีกฏระเบียบใหม่ในเรื่องวิธีการคำนวณดอกเบี้ยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบใหม่ดังกล่าวได้เลื่อนการพิจารณาออกไป ภายหลังจากการยุบสภาในเดือนธันวาคม 2556 ทั้งนี้ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนดังกล่าวจะเลื่อนออกไปจนกว่ากฎระเบียบใหม่ถูกนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง
จากการที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ประกอบกับการสนับสนุนทางการเงินที่ได้รับจากธนาคารกรุงไทย ทำให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นมิได้เป็นประเด็นที่น่าห่วงมากนัก กล่าวคือ บริษัทมีเงินทุนที่ใช้สนับสนุนสภาพคล่องจากเงินกู้ที่ได้จากสถาบันการเงินหลายแห่งและจากหุ้นกู้ที่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยไม่มียอดเงินกู้จากสถาบันการเงินใดที่มีสัดส่วนสูงมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับยอดเงินกู้โดยรวม อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทใช้การกู้ยืมและการออกตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทุนหลักในขณะที่คู่แข่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าจากการมีฐานเงินฝากเป็นแหล่งเงินทุน ผลประกอบการที่ปรับตัวที่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยตลาดที่มีแนวโน้มลดลงในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 5.0% ในปี 2552 เป็น 4.4% ในปี 2556
การขาดทุนที่สูงในปี 2554 ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทลดต่ำลงอย่างมาก อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นเป็น 8.8 เท่า ณ สิ้นปี 2554 เทียบกับเกณฑ์ที่บริษัทต้องดำรงไว้ที่ระดับไม่เกิน 10 เท่า ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2555-2557 ส่งผลให้ฐานทุนแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลงเหลือ 6.4 เท่า ณ สิ้นปี 2557 หากบริษัทคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระมัดระวัง ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับนี้ในอีก 2 -3 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่ออาจทำให้บริษัทมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นและส่งผลต่ออัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่บ้าง