"ลดต้นทุน ลดเส้นทาง เพิ่มการขาย สามอย่างนี้เป็นหัวใจหลักในการฟื้นฟูกิจการการบินไทย"กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"หลังจากเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ตั้งแต่เดือน ธ.ค.57 และจะครบวาระในเดือนก.พ.60
TAHI ประเมินภาพผลประกอบการในช่วงปี 58-60 ว่า รายได้ในปี 58 เบื้องต้นคาดไว้ที่ 1.75 แสนล้านบาท แต่อาจจะปรับเพิ่มเป็น 1.8 แสนล้านบาท และในปี 59 คาดว่ารายได้จะเติบโต 6-7% หรือสูงขึ้นประมาณ 1 หมื่นล้านบาทจากปีนี้ แต่ในปีนี้บริษัทคงยังมีผลขาดทุน แม้ว่าจะลดลงจากปีก่อนที่ขาดทุนสูงถึง 1.56 หมื่นล้านบาท และจากนั้นสถานการณ์จะปรับดีขึ้นจนกระทั่งสิ้นสุดระยะเวลาของแผนที่จะได้รับผลดีอย่าวเต็มที่
"ปี 58 ยังขาดทุนแน่นอนเพราะปีที่แล้วขาดทุนมากจะให้กำไรพรวดเป็นไปไม่ได้ มันต้องค่อยๆ ไปจากนี้ไปแผน 2 ปีจบ ปี 60 กำไรเต็มที่"นายจรัมพร กล่าว
นายจรัมพร กล่าวว่า ในแง่ของการผลดำเนินงาน ปี 58 นี้บริษัทจะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง แม้จะมีทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน(headging)ในสัดส่วน 70% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้ หรือเท่ากับ 5.6 หมื่นบาร์เรล ซึ่งเป็นการทำไว้ในช่วงที่ราคาน้ำมันอยู่ในขาลง และสัดส่วนใกล้เคียงกับคู่แข่ง ทำให้บริษัทมีส่วนต่างราคาน้ำมันลดลง 20% จากปีที่แล้ว ส่งผลให้ต้นทุนน้ำมันปีนี้ลดลงราว 1.6 หมื่นล้านบาท หรือลดลงเหลือ 36% ของต้นทุนรวม จากเดิมอยู่ที่ 40%
ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารจะเข้ามาดูแลใกล้ชิดทุก 2 สัปดาห์ โดยประเมินว่าราคาน้ำมันน่าจะปรับตัวขึ้นในปี 60 หากทำประกันความเสี่ยง หรือซื้อล่วงหน้าไว้ในช่วงนี้ก็น่าจะช่วยให้การบริหารต้นทุนน้ำมันทำได้ดีในระดับหนึ่ง
ขณะที่การท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไตรมาสแรกปีนี้จำนวนผู้โดยสารเข้ามามากตามฤดูกาล โดยนักท่องเที่ยวจีนเติบโตสูงมากถึง 25% ประกอบกับอานิสงส์ที่ราคาน้ำมันปรับลง ทำให้ค่าใช้จ่ายปรับลงอย่างมาก จึงคาดว่าไตรมาสแรกปีนี้จะมีกำไร และคาดว่าไตรมาส 2 ก็ยังมีโอกาสกำไรต่อเนื่อง ว
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของปีนี้จะขาดทุนมากน้อยเพียงใดขึ้นกับราคาขายเครื่องบิน 42 ลำ โดยในเดือน ก.ค.58 จะขายออกไป 22 ลำ และปลายปีนี้ขายอีก 20 ลำ ซึ่งจะบันทึกบัญชีเพียงครั้งเดียว
นายจรัมพร กล่าวว่า ส่วนในปี 59 บริษัทคาดว่าผลประกอบการจะพลิกเป็นกำไร โดยจะทำกำไรได้ทุกไตรมาส แต่ก็ยังมีความเสี่ยงหากปีนี้ขายเครื่องบินได้ไม่หมดก็มีโอกาสที่จะบันทึกด้อยค่าของเครื่องบินในปีหน้า อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการก็จะดีกว่าปีนี้อย่างแน่นอน และในปี 60 เชื่อว่ากำไรจะกลับไปสูงแตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท
"อย่างน้อยหลังจากการปรับกระบวนทัพแล้ว สถานการณ์เป็นอย่างไรไม่ใช่ประเด็นแล้ว แต่จะหาวิธีทำกำไร โดยปี 59 รีดไขมัน แผนจบสิ้นปี 59 ถ้าต้นทุนต่ำสุด เราก็มีกำไร"นายจรัมพร กล่าว
"ปีนี้เราพยายามลดต้นทุนทั้งหมด และรายได้ที่ตั้งเป้าไว้ 1.75 แสนล้านบาท อาจจปรับถึง 1.8 แสนล้านบาท ปีหน้าต้วธุรกิจน่าจะเป็นบวกแน่นอน บวกมากบวกน้อย เชื่อมั่นว่าทุกไตรมาส แต่จะมีถ้าขายเครื่องบินไม่หมด ปี 59 ก็ไม่ต้องบันทึกด้อยค่าแต่ถ้าขายไม่หมดก็จะเป็นตัวเสี่ยงเข้ามา ใปปี 59 ต้องหมด เพราะฉะนั้นในปี 60 ต้องไม่มีตัวถ่วง"นายจรัมพร กล่าว
*ลดต้นทุน ลดเส้นทาง เพิ่มการขาย
นายจรัมพร กล่าวว่า โจทย์ฟื้นฟูหองค์กรเป็นการบริหารการเปลี่ยนแปลง(Change Management)กับ Crisis magnagement ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เคยเจอมาโดยตลอด และเป็นเหตุผลหนึ่งที่เข้ามารับตำแหน่งนี้ เพื่อเดินหน้าแผนฟื้นฟูคด้วยการวางระบบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืน
แผนพลิกฟื้นการบินไทยไม่ใช่เรื่องยาก แต่มีหลายเรื่องใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการโดยเฉพาะเรื่องต้นทุนที่การบินไทยมีสูงกว่าคู่แข่ง สิ่งแรกที่ทำคือหยุดเลือด ตัดเส้นทางที่ขาดทุน 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพ-มอสโคว์ กรุงเทพ- มาดริด กรุงเทพ-โจฮันเนสเบิร์ก ภูเก็ต-โซล ขณะที่ในตารางฤดูหนาวที่จะเริ่มในเดือน ต.ค.58 จะมีการตัดเส้นทางบินอีก 5-10 เส้นทาง
พร้อมทั้ง ลดต้นทุนด้านเครื่องบินที่เตรียมปลดระวางและขายออก 42 ลำ เพื่อลดแบบเครื่องบินเหลือ 8 แบบ จากเดิม 11 แบบ ส่งผลให้ต้นทุนการซ่อมบำรุงลดลง ส่วนการสั่งซื้อเครื่องบินใหม่ที่ดำเนินการไปแล้วจะไม่ทบทวนหรือเปลี่ยนแปลง โดยปีนี้จะมีการรับมอบเครื่องบินโบอิ้ง 777 อีก 2 ลำ และรับมอบแอร์บัส 350 จำนวน 12 ลำในปี 60-62 ทดแทนโบอิ้ง 747
ต้นทุนด้านบุคคลากรสูงทำให้รายได้ต่ำกว่าคู่แข่ง อาจเป็นเพราะปล่อยให้องค์กรขยายจนทำให้จำนวนพนักงานมากกว่าแห่งอื่น ขณะที่รายได้ต่อเครื่องต่อลำต่ำกว่า ปัจจุบันมีพนักงาน 25,000 คน เครืองบิน 100 ลำ เท่ากับทำรายได้เฉลี่ยเพียง 250 บาท/คน/ลำ ดังนั้น จึงวางเป้าหมายให้เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อผลักดันรายได้เฉลี่ยต่อคนให้สูงขึ้น 20%
ทั้งนี้ หน่วยธุรกิจ(BU)ที่มีอยู่ได้แก่ ฝ่ายซ่อมบำรุงมีพนักงานมากถึง 4,500 คน แต่ปลายปีนี้จะลดจำนวรเครื่องบินเหลือ 89 ลำ จาก 2 ปีที่แล้วมี 140 ลำ จึงต้องหาวิธีทำสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการเพิ่มลูกค้าจากสายการบินอื่น 30% ส่วนฝ่ายครัวการบินมีลูกค้ามากถึง 50 สายการบินก็จะปรับปรุงเครื่องมือและโรงผลิตให้ทันสมัยเพื่อให้สามารถผลิตได้มากขึ้นและมีคุณภาพดีสม่ำเสมอ
ฝ่ายธุรกิจคาร์โก้(CARGO)เมื่อยกเลิกเที่ยวบินขนส่งสินค้า 2 ลำที่อยู่ในแผนขายออกในเดือน ก.ค.เพราะมีต้นทุนสูงมาก อย่างไรก็ดี การบินไทยยังคงให้บริการ CARGO โดยใช้พื้นที่ใต้ท้องเครื่องบิน
"แต่ละหน่วยธุรกิจก็ควรปฏิรูปควบคู่ไปด้วย 2 ปี ว่าจะได้รู้ว่า จะขยายอย่างไร ต้องการพันธมิตรหรือไม่"นายจรัมพร กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทจะยังต้องจัดโครงสร้างองค์กรใหม่ให้รวดเร็วทันสถานการณ์ โดยปัจจุบันมีระดับผู้บริหาร 13 ชั้น จะลดลงเหลือ 8 ชั้น ส่วนการจัดกลุ่มธุรกิจจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำ โดยจะต้องดูแต่ละ Asset ที่ลงทุนไป หากไม่ใช่ธุรกิจหลักก็จะต้องขายออกไป ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ในโฮเปนเฮเกน, ออสเตรเลีย และอังกฤษ เชื่อว่าจะได้กำไรเพราะซื้อไว้นานแล้ว
นายจรัมพร กล่าวอีกว่า ส่วนของเงินลงทุนในบริษัทต่างๆ ได้แก่ สายการบินนกแอร์(NOK)ถือหุ้น 39.20% และ บริษัท โรงแรมโนโวเทลสุวรรณภูมิแอร์พอร์ต จำกัด ฝ่ายจัดการจะนำมาพิจารณาทบทวนข้อดีข้อเสียในไตรมาส 2/58 หากตัดสินใจขายก็จะนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ แต่มองว่ายังไม่จำเป็นต้องขายภายในปีนี้
พร้อมกันนั้น บริษัทได้ปรับปรุงระบบการขาย การตั้งราคา การบริหารที่นั่ง ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนขายผ่านเอเย่นต์ถึง 80% โดยบริษัทจะดึงยอดขายขึ้นมาทั้งที่ผ่านเอเย่นต์และขายผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเพิ่มยอดขายตั๋ว ชิงส่วนแบ่งการตลาดจากสายการบินอื่นให้มากกว่านี้ ซึ่งเบื้องต้นมองว่าเอเย่นต์ขายตั๋วของการบินไทยยังน้อยไป
ขณะที่การขายตั๋วผ่านอินเทอร์เน็ตจะปรับปรุงให้ใช้บริการได้ง่ายขึ้น คาดว่าเครึ่งปีหลังจะเห็นความปลี่ยนแปลง และชัดเจนมากขึ้นในปลายปี 59 โดยจะต้องลงทุนเพิ่มเพื่อขยาย capacity ให้สูงขึ้นไม่น้อยกว่า 4 เท่า จากปัจจุบันขายผ่านจออยู่ที่ 2.4 ล้านใบ เพื่อรองรับการขยายในช่วง 3 ปีข้างหน้า ส่วน call center จะขยายให้ทันความต้องการ
"เราให้ความสำคัญของเรื่องการขาย เพราะช่วยสร้างรายได้ให้เร็ว แต่ที่จะทำให้บริษัทโตในระยะยาวได้คือเรื่องลดต้นทุน จะทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าบริหารไม่ได้เราจะแข่งกับคนอื่นไม่ได้ ก็เหมือนกับนักกีฬา ที่ต้องฟิต เพราะคู่แข่งเราเป็นนักกีฬาชั้นโอลิมปิกทั้งนั้น ถ้าเราไม่ฟิตแข้งยังไงก็แพ้"นายจรัมพร กล่าว