"ช่วงนี้ราคาน้ำมันลดลงก็คิดว่าราคาน้ำมันจะทรงๆ แบบนี้ระยะเวลายาวพอสมควร น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้เมื่อเทียบกับในอดีตที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตัววัตถุดิบที่มาจากภาคน้ำมันไม่ค่อยคุ้มค่า แต่วันนี้แนวคิดก็เปลี่ยนไป(สัดส่วนการใช้วัตถุดิบจากก๊าซฯกับน้ำมัน) ก็ต้องทำผลการศึกษาใช้เวลาศึกษาปีนี้ อันนี้เป็นหนังอีกตอนที่จะทำ"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ปัจจุบัน PTTGC มีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ รวม 8.72 ล้านตัน/ปี และกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรวม 2.8 แสนบาร์เรล/วัน โดยใช้วัตถุดิบหลักจากก๊าซฯในการผลิตโอเลฟินส์ราว 87% ส่วนที่เหลือ13% มาจากแนฟทา ขณะที่การใช้วัตถุดิบจากก๊าซฯจะมีต้นทุนต่ำกว่าแนฟทา ซึ่งอิงกับราคาน้ำมัน นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงนี้ คงจะไม่กลับมายืนระดับ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้บริษัทหันมาศึกษาความคุ้มค่าจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมัน เช่น แนฟทา เป็นต้น จากที่เคยส่งออกไปก็อาจจะนำกลับมาเป็นวัตถุดิบได้
นอกจากนี้ปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยก็มีแนวโน้มที่จะลดลง คาดว่าจะใช้เวลา 7-8 ปีเป็นต้นไปที่ปริมาณก๊าซฯน่าจะลดลงมาเหลือราวครึ่งหนึ่ง ทำให้บริษัทศึกษาที่จะนำก๊าซฯเข้ามาทดแทนหากปริมาณก๊าซฯในอ่าวลดลงไป รวมถึงการติดตั้งหน่วย off-gas ซึ่งจะเป็นการนำผลพลอยได้จากโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งจะมีก๊าซอีเทน เหลืออยู่ เพื่อดึงเอาก๊าซอีเทน เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการผลิตโอเลฟินส์ โดยหน่วยดังกล่าวติดตั้งและเดินเครื่องผลิตได้ในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ลดการพึ่งพิงก๊าซฯจากอ่าวไทย
ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ออกไปหาแหล่งวัตถุดิบอื่นเพิ่มเติม โดยศึกษาโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในสหรัฐ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตร เพื่อผลิตโอเลฟินส์ขนาด 1 ล้านตัน/ปี ใช้ก๊าซอีเทนจาก shale gas เป็นวัตถุดิบ ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติแผนงานเบื้องต้นของโครงการดังกล่าวแล้ว และให้ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งในด้านการออกแบบ ประเมินราคา ค่าก่อสร้าง และการหาพันธมิตร รวมถึงผู้สนับสนุนเงินกู้ ซึ่งจะใช้เวลาศึกษาอีก 1 ปี ก่อนจะสรุปว่าจะตัดสินใจลงทุนหรือไม่ต่อไป
"เราจะศึกษาอีก 1 ปี ถ้าออกมาแล้วพบว่ายังบวก บวก บวก อยู่ก็ดำเนินการ อันนี้ก็ชัดเจนแล้ว เข้าบอร์ดผ่านแล้ว"นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว