"ในไตรมาสแรกของปี 58 มีผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งระยะสั้นและระยะยาวสูงถึง 158 บริษัท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงทิศทางใหม่ในการในการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งเกิดจากการที่บรัทขนาดกลางสามารถเข้าถึงการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น"
สำหรับภาพรวมตลาดตราสารหนี้ไทยในช่วงไตรมาสแรก มีมูลค่าคงค้างโดยรวมเท่ากับ 9.36 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2557 โดยมูลค่าคงค้างของพันธบัตรภาครัฐ (ประกอบด้วยพันธบัตรรัฐบาล พันธบัตร ปท. และพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ) เพิ่มขึ้น 2.1% มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว เพิ่มขึ้น 2.2% ส่วนมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น ลดลง 27%
ด้านกระแสเงินทุนต่างชาติในช่วงไตรมาสแรก พบว่า เงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ลดลง 7.15 พันล้านบาทจากสิ้นปี 57 จากความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะที่เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน มี.ค. นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ไทยรวมมูลค่า 6.76 แสนล้านบาท ลดลง 1.05% จาก 6.83 แสนล้านบาทในปี 57
ด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล ณ สิ้นเดือนมี.ค. พบว่า Yield ของพันธบัตรระยะสั้น (อายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) ปรับตัวลดลงประมาณ 28 basis point ตามการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (จาก 2.0% เป็น 1.75% เมื่อวันที่ 11 มี.ค.) ขระที่ Yield ของพันธบัตรระยะยาว (อายุคงเหลือตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป) ปรับตัวลดลงช่วงประมาณ 10-25 basis point เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด และการใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินในต่างประเทศ อาทิ การใช้มาตรการ QE ของธนาคารกลางยุโรป หรือ การทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางในหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ฯลฯ
ขณะที่แนวโน้มในช่วงถัดไป คาดว่าภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางจะระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตามทิศทางของดอกเบี้ยในประเทศที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ ประกอบกับภาคเอกชนมีความต้องการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการระดมทุนเพื่อรองรับการพัฒนาในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้น
นายธาดา กล่าวว่า ไม่กังวลหากสหรัฐฯมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย และเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตราสารหนี้ไทย เนื่องจากเชื่อว่าภาครัฐฯจะมีมาตรการในการรับมือ
"ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐฯปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสหรัฐฯจะยังไม่รีบปรับขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากอาจจะเป็นผลกระทบต่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้เศรษฐกิจกลับมาชะลอตัวอีกครั้ง ทั้งนี้เชื่อว่าหากสหรัฐฯมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นจริงทางภาครัฐฯก็จะเข้ามาช่วยดูแลได้ เพราะสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในตราสารหนี้ไทยเพียง 10% เท่านั้น"นายธาดา กล่าว